สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลกจัดประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล จากทีมวิจัยของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อรับฟังการประกาศผลการจัดอันดับความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2019)

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย ชั้น 30 อาคารสยามพิวรรธน์ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลกจัดประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล(Teleconference) จากทีมวิจัยของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรับฟังการประกาศผลการจัดอันดับความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2019) โดยมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. และGeorgia Wallen, Acting Country Manager, World Bank ร่วมแถลงผลการวิจัย Doing Business 2019

        ธนาคารโลกประกาศผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในรายงาน Doing Business 2019 ประเทศไทยมีค่าคะแนน Ease of Doing Business สูงขึ้น และยังคงอยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศแรกของโลกจาก 190 ประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ

         ในรายงาน Doing Business 2019 ค่าคะแนนของไทยขยับจาก 77.39 เป็น 78.45 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 26 เป็นอันดับที่ 27 ค่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นส่งสัญญาณที่ดีในการปฏิรูปการบริการภาครัฐ ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปและนโยบายของรัฐบาลในการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในปี 2018 ประเทศไทย ได้มีปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างก้าวกระโดดจนอันดับขยับขึ้นถึง 20 อันดับ

        สำหรับในปีนี้ ในตัวชี้วัดรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าคะแนนและอันดับสูงขึ้นมี 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการชำระภาษี (ดีขึ้น 8 อันดับ) (2) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า (ดีขึ้น 7 อันดับ) (3) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย (ดีขึ้น 2 อันดับ) (4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน (ดีขึ้น 2 อันดับ) (5) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน เสียงข้างน้อย (ดีขึ้น 1 อันดับ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการขอใช้ไฟฟ้า กระโดดขึ้นสู่อันดับที่ 6 กลายเป็นกลุ่ม Top 10 ของโลก

        นอกจากนี้ธนาคารโลกยังระบุในรายงานถึงการปฏิรูปสำคัญของประเทศไทยอีก 4 ด้าน คือ

         1. ด้านเริ่มต้นธุรกิจ ได้ปรับปรุงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทจำกัดใหม่เป็นแบบอัตราคงที่ (flat rate) ในอัตราเดียว คือ 5,500 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียค่าธรรมเนียมถูกลง

          2. ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ที่ปรับกระบวนการในการเสนอ และพิจารณาค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ให้สามารถเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงอัตราค่า Ft แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการชำระเงิน ส่งผลให้ค่าดัชนีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล
สูงขึ้น

          3. ด้านการชำระภาษี ลดระยะเวลาที่ใช้ในการยื่นภาษีนิติบุคคลลง จาก 156 ชั่วโมง เหลือ 123 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาโปรแกรม Spreadsheet สำหรับช่วยคำนวณรายการรายจ่ายทางภาษีสำหรับนิติบุคคล ที่ยื่น ภ.ง.ด. 50 ทั่วประเทศ ให้ง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น

          4. ด้านการค้าระหว่างประเทศ เปิดให้บริการระบบการตัดบัญชีใบกากับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) เต็มรูปแบบ ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window: NSW) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสารการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการส่งออกสินค้า ผ่านแดนในภาพรวม      


กลุ่มวิเทศสัมพันธ์และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ