สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนที่ทีมวิจัยจากธนาคารโลกจะเดินทางมาจัดเก็บข้อมูล เพื่อการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business 2020)

แชร์หน้านี้

         
      เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนที่ทีมวิจัยจากธนาคารโลกจะเดินทางมาจัดเก็บข้อมูล เพื่อการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business 2020) ขึ้น โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก แนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียม ความพร้อมการเข้ามาตรวจสอบยืนยันข้อมูลของธนาคารโลก (Site Visit) ทั้งการจัดทำข้อมูลและรูปแบบวิธีการนำเสนอ รวมทั้งการปฏิรูปรายด้านเพื่อยกระดับ Doing Business 2020 การพัฒนาช่องทางการให้บริการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) และคาดการณ์การปฏิรูปและอันดับของประเทศไทยในรายงาน Doing Business 2020

    ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากธนาคารโลกจะเดินทางมาจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ในการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2020) ระหว่างวันที่ 16 - 17 พฤษภาคม 2562 โดยการดำเนินการดังกล่าว ทีมวิจัยจากธนาคารโลกจะดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ 1) การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และ 2) การเดินทางมาสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก 

      ในปีนี้ผลงานที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน กรมที่ดินได้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อให้บริการได้เต็มทุกพื้นที่แล้ว สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องเรียกสำเนาเอกสาร ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง กรุงเทพมหานครได้แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 โดยนำการประเมินความเสี่ยงมาใช้จัดประเภทอาคารเพื่อบริหารจัดการในการควบคุมอาคาร สามารถลดจำนวนครั้งการตรวจอาคารด้านการค้าระหว่างประเทศ สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าผ่านแดนด้วยกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ยกเลิกไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs ด้านการชำระภาษี สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวดเร็วขึ้นจากการนำเกณฑ์ความเสี่ยงมาใช้ในการตรวจสอบภาษี ทำให้สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายใน 90 วัน ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับศาล (Court automation) เช่น ระบบการส่งเอกสารและการประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Notice system) ทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วขึ้น มีระบบเผยแพร่สืบค้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่สามารถค้นหาจากเลขคดี ชื่อข้อหา ชื่อหน่วยงาน หรือค้นหาตาม Keyword ได้ ด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย นำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนทุกขั้นตอน เช่น แอปพลิเคชัน LED Property เป็นระบบการค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี 


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ