การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดให้เข้มแข็งผ่านกลไก MOC Biz Club (จังหวัดอุดรธานี)” ของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 

           คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดให้เข้มแข็งผ่านกลไก MOC Biz Club (จังหวัดอุดรธานี)” ของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 

           จังหวัดอุดรธานี เป็นศูนย์กลางการค้าปลีกและค้าส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีโครงสร้างเศรษฐกิจด้านค้าปลีกค้าส่งมากที่สุดกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดของจังหวัด มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนกว่า 44,000 ราย  แต่มีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถ ในการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะ SMEs  วิสาหกิจชุมชน OTOP ขาดการรวมกลุ่มกันและมีความหลากหลายในประเภทธุรกิจ และขาดศักยภาพในการตลาด เพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพ ให้เข้มแข็งเติบโตไปพร้อม ๆ กัน กระทรวงพาณิชย์ จึงมีแนวคิดในการส่งเสริมการรวมตัวกันของเครือข่ายธุรกิจ  ให้เป็นศูนย์รวมธุรกิจและพันธมิตรทางการค้า เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ ภายใต้กิจกรรม “เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club” ซึ่งมีคณะกรรมการ Biz Club Thailand เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

           สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ในการรวมตัวจัดตั้งเป็นศูนย์เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ซึ่งบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ (Cluster) ได้แก่ 
1) ผ้าและเครื่องแต่งกาย 2) อาหารและเครื่องดื่ม 3) เกษตร/เกษตรแปรรูป 4) ท่องเที่ยวชุุมชน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในเครือข่าย Cluster นั้น ๆ จะต้องวางแผนกำหนดทิศทางเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและและประสิทธิผล โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นแกนกลางในการประสานหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาเครือข่ายธุรกิจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าจังหวัดอุดรธานีให้เข้มแข็งผ่านกลไก MOC Biz Club  การดำเนินการของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี สรุปได้ดังนี้

          1. การพัฒนาศักยภาพสมาชิกเครือข่ายธุรกิจ โดยการอบรมสัมมนา/เสวนา สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ การตลาด การให้คำปรึกษาแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีประสบการณ์ การให้คำปรึกษาระหว่างเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ในรูปแบบพี่สอนน้อง รวมทั้งการประชุมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยยึดหลักการ “ระเบิดจากข้างใน" 

          2. พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์  โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ให้แก่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกับนักออกแบบ (Designer) ที่มีประสบการณ์  

          3. สร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ผ่านการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ระหว่างเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club กับผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ ในภูมิภาคอื่น และผู้ประกอบการทั่วไป 

          4. ติดตามประเมินผลและรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารนโยบาย แนวทางในการดำเนินงานจากส่วนกลางถึงเครือข่ายและการรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยมีช่องทาง เพื่อให้เครือข่ายได้พบปะพูดคุย ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง Cluster เช่น 
การจัดประชุม MOC Biz Club เป็นต้น 

          ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของจังหวัดอุดรธานี จากรายได้ 8 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 2.8 แสนบาท/เดือน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายขึ้น เช่นห้างสรรพสินค้า ตลาดต่างประเทศ ทางสังคมทำให้เกิดความรักและสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย เกิดบรรยากาศความร่วมมือกันในการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดเพื่อความยั่งยืนไปยังคนรุ่นใหม่ (Yong Smart Trader) ต่อไป