การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “Kalasin Happiness Model : คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนขั้นพื้นฐาน” ของสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 

          คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “Kalasin Happiness Model : คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนขั้นพื้นฐาน” ของสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ 

          จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความโดดเด่นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง จากปัญหาความยากจนที่อยู่อันดับที่ 4 ของประเทศ และ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนยากจน 2,465 บาทต่อเดือน จึงได้คิดรูปแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน
ในโครงการ “Kalasin Happiness Model : คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของกลุ่มคน 4 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมีแนวคิด “ฮักแพง แบ่งปัน” ซึ่งหมายถึง ความรักใคร่
กลมเกลียวและช่วยเหลือแบ่งปันกันโดยให้คนในชุมชนช่วยเหลือกันเองตามหลักชุมชนช่วยชุมชน เพื่อตระหนักถึงการร่วมใจให้ความช่วยเหลือกัน และยังบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคมช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน ซึ่งเป็นระบบ KHM V.1.3 ที่ใช้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน เพื่อพิจารณาจำแนกให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดตามด้านต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย สวัสดิการแห่งรัฐ อาชีพ สุขภาพ หนี้สิน เป็นต้น

          ผลจากการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้คนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงระบบสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น ซึ่งจากการช่วยเหลือที่ตรงจุดทำให้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 2,671 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.24 และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ทุกครัวเรือน (3,292 ครัวเรือน) ทั้งนี้ ผลสำรวจความพึงพอใจโดยรวมของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการในระดับมากและมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85