การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “โครงการพัฒนาพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร” ของกรมป่าไม้

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562

          คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “โครงการพัฒนาพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร” ของกรมป่าไม้

          ในช่วงฤดูฝนของทุกปี พื้นที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องบุกรุกพื้นที่ป่าดงมัน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตรและปศุสัตว์ ส่งผลให้ ป่าดงมันเสื่อมโทรมลง จากวันนั้น กรมป่าไม้ เข้าสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน จัดเวทีประชาคม
รับฟังปัญหา ความต้องการ ตลอดจนความคิดเห็นและร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด กรมทหารราบที่ 16 องค์การบริหารส่วนตำบลค้อเหนือ วัดป่าธรรมานุสารี โรงเรียนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 6 โรงเรียน สถาบันปลูกป่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และที่สำคัญผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายป่าชุมชน ในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อกำหนดระเบียบชุมชน "สร้างป่า สร้างรายได้" ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดค้อเหนือ เพื่อแปรรูปอาหารอาหารจากป่าชุมชน ภายใต้แบรนด์ "วนาทิพย์" ซึ่งต่อมาแปรรูปมาเป็นรูปแบบของสหกรณ์การเกษตร ภายใต้ชื่อ "วนาทิพย์ โอท็อปชุมชนคนรักษ์ป่า" อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อขยายองค์ความรู้ให้แก่ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน

         จนถึงวันนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของการดำเนินโครงการฯ กรมป่าไม้ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลัก และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของเครือข่ายพบว่า ร้อยละ 90.4 คิดว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อตนเองและคนในพื้นที่ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นได้จากการที่สามารถฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 95 (3,006 ไร่) ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศน์ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เห็นได้จากการฟื้นฟูของเห็ดตามธรรมชาติ ตลอดจนการเพิ่มจำนวนของสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก ไก่ป่า รวมถึงแมลงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้ชุมชนมีรายได้จากผลิตผลจากป่ากว่า 3 ล้านบาทต่อปี โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า ชุมชนมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ตามโครงการธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิตโดยชุมชนเครือข่าย จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้อีกด้วย