การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การเสริมสร้างความรู้พัฒนาชาวไร่แบบมีส่วนร่วม เพื่อการผลิตมันสำปะหลังยั่งยืน (อุบลโมเดล)” ของกรมวิชาการเกษตร

แชร์หน้านี้

           สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 

           คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การเสริมสร้างความรู้พัฒนาชาวไร่แบบมีส่วนร่วม เพื่อการผลิตมันสำปะหลังยั่งยืน (อุบลโมเดล)”   ของกรมวิชาการเกษตร 

           มันสำปะหลัง เป็นพืชวัตถุดิบหลักในการแปรรูปแป้ง มันเส้น และมันอัดเม็ด และยังเป็นพืชพลังงานชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในการผลิตเอทานอลใช้ผสมในน้ำมันเบนซิน เป็นแก๊สโซฮอล์ นั้น เป็นพืชที่เกิดโรคระบาดได้ง่ายเนื่องจากปลูกแบบไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน จึงเกิดขึ้นเพื่อร่วมกันเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยใช้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” เข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์หาเครือข่าย การลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกลุ่มบริษัทไบโอเอทานอล เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเกษตรกรสู่การผลิตมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน การกำหนดวิสัยทัศน์ให้ “เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต” ด้วยการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ที่ใช้หลักการงานวิจัยนำการตลาด โดยนำเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดสู่กลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่การปรับปรุงดิน การจัดการปุ๋ย การจัดการพันธุ์ การจัดการน้ำ และการจัดการศัตรูพืช จนเป็นเทคโนโลยีเฉพาะพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย โดยการสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบ เพื่อขยายและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ในการปลูกมันสำปะหลังโดยใช้หลักการของเกษตรอินทรีย์ จนเกิดเป็น “อุบลโมเดล” 

           จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้ 40 ราย ยกระดับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 66         ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 และจากการที่มีแปลงต้นแบบเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทำให้สามารถเผยแพร่ความรู้และให้ความช่วยเหลือกันภายในกลุ่มเกษตรกร ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจจากพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกด้วย