การลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสนับสนุนให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)” ของจังหวัดสตูล

แชร์หน้านี้

          สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกรม/เทียบเท่า และจังหวัดดำเนินการให้มีการส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหน่วยงานที่สมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ตามเกณฑ์การประเมิน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562

           คณะตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ผลงาน “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสนับสนุนให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)” ของจังหวัดสตูล

           จังหวัดสตูลมีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา รวมถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวพื้นเมือง โบราณสถาน และนิเวศวิทยา มีแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่า มีความโดดเด่นทั้งด้านความหลากหลายของ ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเลที่ค้นพบ และความหลากหลายของชั้นหินยุคเก่าแก่ รวมทั้งสภาพภูมิประเทศหินปูนที่มีความสวยงามระดับโลก โดยเฉพาะการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล ที่สามารถบ่งชี้อายุทางธรณีได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อประมาณ 548 - 250 ล้านปีที่ผ่านมา

           จากความสำคัญข้างต้นทุกภาคส่วนในจังหวัดจึงเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการ ตามแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณี เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและภูมิทัศน์ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งบริหารจัดการอุทยานธรณีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการศึกษาและข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชน พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรณีและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ได้มีการประกาศรับรองอุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีระดับโลก (UNESCO Global Geopark) แห่งแรก ในประเทศไทย และแห่งที่ 5 ของอาเซียน ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดสตูล รวมถึงชื่อเสียงของประเทศไทยจะเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น

           ผลสำเร็จจาการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผล ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสตูล โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุทยานธรณีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความรัก ความหวงแหน มรดกทางธรณีวิทยา มรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืนและเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และเสริมสร้างความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอีกด้วย