สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อในวันที่ 2 กันยายน 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนภารกิจของภาครัฐให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผน แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการต่าง ๆ โดยมีนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. คำกล่าวเปิดการประชุม ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร 

         นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงการจัดทำตัวชี้วัดในปี 2563 ว่า “จะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดทำ เพื่อไม่เป็นภาระกับส่วนราชการ โดยให้มีตัวชี้วัดจำนวนไม่มาก เลือกเฉพาะที่สำคัญเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของส่วนราชการในการกำหนดตัวชี้วัดตามภารกิจหลักและอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ”

      ในการประชุมได้มีการชี้แจงถึงที่มา กรอบการประเมินส่วนราชการ ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลักการในการกำหนดตัวชี้วัด กลไกการประเมินส่วนราชการฯ ประเด็นการประเมินในแต่ละองค์ประกอบ และปฏิทินการประเมินส่วนราชการฯ รวมทั้งวิธีคิดและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของกรอบการประเมินฯ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยนางศิริเนตร กล้าหาญ ผู้อำนวยการกองติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ

        ทั้งนี้ กรอบการประเมินส่วนราชการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เน้นความยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยไม่กำหนดจำนวนตัวชี้วัดในแต่ละองค์ประกอบ ให้ส่วนราชการและจังหวัดมีจำนวนตัวชี้วัด 3-5 ตัวชี้วัดโดยไม่จำเป็นต้องครบทั้ง 5 องค์ประกอบ แต่อย่างน้อย 3 องค์ประกอบ มีการกำหนดน้ำหนักของตัวชี้วัดรวมเท่ากับ 100 และตัวชี้วัดที่เป็นภารกิจสำคัญสะท้อนกับยุทธศาสตร์ชาติ/แผนแม่บทฯ สามารถใช้ประเมินต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2563 -2565) โดยสามารถปรับแผนและค่าเป้าหมายได้ รวมทั้งมีตัวชี้วัด Digital Transformation เป็นทางเลือกเพิ่มเติม ในส่วนตัวชี้วัดการชี้แจงประเด็นที่ทันต่อสถานการณ์ได้นำไปรวมกับการประเมินผู้บริหารองค์การแทน



กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ