การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิด (Open Government Partnership : OGP)

แชร์หน้านี้

ตอน : MY BETTER COUNTRY เวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจากไอเดียนวัตกรรมการพัฒนาบริการของรัฐสู่การปฏิบัติ         

        
         เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 สำนักงาน ก.พ.ร จัดประชุมร่วมหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนางานบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ขึ้น ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธาน ซึ่งได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานราชการรับทราบความต้องการของประชาชนที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็น MY BETTER COUNTRY HACKATHON ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยผลการหารือ ได้แนวทางในการพัฒนางานบริการที่มีความโดดเด่น และเป็นไปได้ในการนำไปดำเนินการ 6 ผลงาน ดังนี้

         1. PAI Chatbot เป็นช่องทางให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งในระยะแรก เป็นการจัดทำข้อมูลขอบเขตอำนาจของสถานีตำรวจแต่ละที่เข้าไปในระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดต่อกับสถานีตำรวจไม่ผิดท้องที่ โดยการเชื่อมโยงแผนที่กับ 191 และระยะที่ 2 เป็นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อเป็นการเตือนภัยอาชญากรรม

         2. Application เพื่อผู้พิการทางสายตา จะเป็น Application อำนวยความสะดวกด้านการศึกษา ในระยะต่อไปจะพัฒนาให้สามารถครอบคลุมด้านอื่น ๆ เช่น การจ้างงานและสวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรจัดกิจกรรม Hackathon เฉพาะสำหรับผู้พิการทุกรูปแบบ เพื่อให้ทราบประเด็นความต้องการและแนวทางในการพัฒนางานภาครัฐ ให้ตอบโจทย์ของผู้พิการได้อย่างแท้จริง

         3. QR Code ข้อมูลมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยพัฒนาให้มี QR Code สำหรับการตรวจสอบประวัติ และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างบนเสื้อวิน โดยคาดว่าจะมีการนำร่องใช้ QR Code ที่เขตบางขุนเทียน อย่างไรก็ตาม เห็นควรมีการจัดทำเป็นรหัสประจำตัวมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ จะพัฒนาไปให้สามารถตรวจสอบสถานะ (Tracking) ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ

         4. การบริหารจัดการป่าไม้ โดยใช้ระบบเซนเซอร์เข้ามาใช้ในการติดตามสภาพของป่าแบบ realtime (ความชื้น ความสมบูรณ์ ควัน และไฟป่า) ในพื้นที่นำร่อง นอกจากนี้ ได้มีการเสนอให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้เป็นชุดเดียวกัน เช่น แผนที่ที่มี scale เดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินการ

         5. การชำระภาษีป้าย ผ่าน Application ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบชำระภาษีป้ายให้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยกรุงเทพมหานครคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ให้สามารถชำระภาษีป้ายได้ทุกที่ ทุกเวลา ใน 50 เขตความรับผิดชอบ

         6. ฐานข้อมูลทรัพยากรและความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันนี้ ข้อมูลลักษณะนี้ กระจายอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ ทำให้การเรียกใช้เป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ทันต่อความเสียหาย การดำเนินงานในครั้งนี้นับเป็นก้าวครั้งสำคัญของภาครัฐที่จะลดช่องว่างระหว่างรัฐและภาคประชาชน รับฟังปัญหาที่มาจากหลากหลายมุมมอง เปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการออกแบบบริการของรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีประชาชนเป็นส่วนร่วมสำคัญ และในอนาคต จะมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้การขับเคลื่อนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งมอบบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพให้กับประชาชน สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ