ลขาธิการ ก.พ.ร. (นายปกรณ์ นิลประพันธ์) และคณะ ประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลไทยในการปรับปรุงระบบกฎหมายที่เกี่ยวของกับหลักประกันทางธุรกิจ

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เลขาธิการ ก.พ.ร. (นายปกรณ์ นิลประพันธ์) และคณะ ประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก นำโดย Ms. Elaine MacEachern (Senior Financial Sector Specialist) Dr. Thomas Johnson (Senior Expert on Secured Transaction Regime) Mr. Richard P. Palmieri (ANR Partners, LLC) และนางสาวรัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินอาวุโส เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลไทยในการปรับปรุงระบบกฎหมายที่เกี่ยวของกับหลักประกันทางธุรกิจ 

       ธนาคารโลกได้ดำเนินการศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อ โดยพัฒนาการประเมิน การบริหารและกรบรรเทาความเสี่ยง และมีการจัดตั้งสํานักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่รับจดทะเบียน แก้ไขรายการจดทะเบียน และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีการเริ่มใช้ระบบสิทธิในหลักประกันสมัยใหม่สำหรับสังหาริมทรัพย์ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้ และจากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกรรมและมูลค่าของงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562) อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เช่น ยังคงจำกัดวงเฉพาะสถาบันการเงิน (Bank) เท่านั้น ยังไม่รวมเจ้าหนี้รายอื่น ๆ (Non-Bank) ซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด สินค้าคงคลัง และบัญชีลูกหนี้ เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเพียงการขยายระบบจำนองในระบบธนาคารและสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งไม่เอื้อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ เนื่องจาก SMEs มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ระบบการจดทะเบียนสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันยังมีความหลากหลาย ทั้งทั้งแง่หน่วยงานรับจดทะเบียน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระบวนการบังคับหลักประกันภายใต้พราชบัญญัติยังมีความซับซ้อน

          ธนาคารโลกยังให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิในหลักประกัน พ.ศ. ... ที่ได้มีการดำเนินการในปี 2560 ว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยต้องมีการเชื่อมระบบจดทะเบียนเข้าด้วยกันเป็นระบบเดียวและให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว และเสนอแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่ (1) คณะกรรมการผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย และตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผู้บริหารในคณะกรรมการควรประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงยุติธรรม (2) คณะทำงานศึกษาและยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในหลักประกัน ทำหน้าที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ และบริหารกระบวนการร่างกฎหมาย รายงานต่อต่อคณะกรรมการผู้บริหารระดับสูง (3) คณะร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะได้รับคำปรึกษาจากคณะทำงานฯ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ

          ในการนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวตามแนวทางที่ธนาคารโลกเสนอ และจะได้ผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วต่อไป เพราะหากดำเนินการล่าช้าจะส่งผลเสียต่อ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว ที่มีการดำเนินการบนกฎหมายหลักประกันสมัยใหม่ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs มากกว่า


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ