4 ปี พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ก้าวสู่บริการรัฐเร็ว กระชับ ฉับไว

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการพัฒนาแนวทางการให้บริการภาครัฐ เรื่อง“4 ปี กฎหมายอำนวยความสะดวก สู่บริการภาครัฐไทยในยุคดิจิทัล” ขึ้น ณ ห้องบอลรูม A - C โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ผลการพัฒนาบริการของรัฐตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จากการประกาศใช้ ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน ส่งผลให้ประชาชนหรือภาคเอกชนได้รับความสะดวกจากการให้บริการของภาครัฐ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถา เรื่องนโยบายภาครัฐสู่การขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกเพื่อประชาชน สรุปได้ว่า ก่อนปี พ.ศ. 2558 เวลาติดต่อราชการ มักจะพบความยุ่งยาก เสียเวลา เสียเงินทอง ต้องติดต่อหลายครั้ง หลายแห่ง และใช้เอกสารจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเสียค่าใช้จ่ายรายทางทั้งในและนอกกฎหมายเพื่อให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น ปัญหาที่เกิดนำมาซึ่งการแก้ไขใน 2 เรื่อง ได้แก่ ระบบ และคนผู้ให้บริการ ซึ่งคนแก้ปัญหาด้วยการอบรม ว่ากล่าวตักเตือน ส่วนระบบนั้น หลายอย่างกฎหมายได้กำหนดไว้ ยกเว้นไม่ได้ ซึ่งการแก้กฎหมายที่มีหลายฉบับเป็นเรื่องยากมาก จึงแก้ด้วยการออกกฎหมายกลาง นั่นคือ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งเป็นกฎหมายในเชิงปฏิรูป ส่งผลต่อกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติราชการในช่วง 3-5 ปี

          หลักสำคัญ คือ ทำให้การติดต่อราชการ easier faster cheaper ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และประหยัดเงิน ขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐต้องทำคู่มือสำหรับประชาชน โดยบอกขั้นตอน ระยะเวลา และเอกสารที่ต้องใช้ และไม่เรียกเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ ในตอนนี้เข้าสู่ยุคดิจิทัลต้อง Smarter ฉลาดยิ่งขึ้น คู่มือต้องขึ้นเว็บไซต์ ดูผ่าน Application ได้ มี infographic แสดง และนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ นำไปสู่ better ดีขึ้นกว่าเดิม ที่มีขั้นตอนการการให้บริการลดลง ระยะเวลาลดลง และยกเลิกสำเนาเอกสาร เพราะราชการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาช่องทางการใช้บริการภาครัฐเป็นผ่านระบบออนไลน์ มีการออกเอกสารดิจิทัล ซึ่งมีหน่วยงานนำร่อง 20 หน่วยงาน และจะขยายไปหลายหน่วยงานและหลายงานบริการ รวมทั้งยกเลิก ปรับเปลี่ยนระเบียบที่ไม่จำเป็น ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับทัศนคติ อัธยาศัย ความมีน้ำใจของผู้ให้บริการ ทั้งหมดนี้ทำให้ระบบราชการอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “สะท้อนมุมมองภาครัฐ-เอกชนสู่บริการภาครัฐในโลกยุคดิจิทัล” โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นางพรรณแข นันทวิสัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกรรมทางการเงิน และนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

          นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติราชการ คือการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกส่วนราชการ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐทำงานตามกฎเกณฑ์โดยไม่ได้มองว่าโลกได้เปลี่ยนไป พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ เป็นการพัฒนาก้าวแรก โดยเอากฎระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการที่ประชาชนไม่เคยรู้มาเปิดเผยให้เห็น นั่นคือระยะที่ 1 ที่ภาครัฐทำ ต่อมามีคู่มือสำหรับประชาชนก็พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น โดยลดระยะเวลาทำงานลง 30-50 % เอาเทคโนโลยีมาช่วย และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือ การทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี ว่าทำอะไรไปแล้ว และมีความคาดหวังอย่างไร เพื่อพัฒนากฎหมายการอำนวยความสะดวกฯ ให้อำนวยความสะดวกได้มากขึ้นอีก

         ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวว่า การทำงานของภาครัฐที่สะดวกอย่างเห็นชัด คือ การขออนุญาตต่าง ๆ ที่ลดการขอสำเนาเอกสาร ค่าธรรมเนียม ทำให้มีความสะดวกมากขึ้น การขอทำธุรกิจรวดเร็วขึ้น แต่ในเนื้อหาสาระยังไม่ได้ปรับแก้ รวมทั้งมีข้อกฎหมายหลายฉบับยังเป็นอุปสรรค กฎระเบียบข้อบังคับไม่เอื้อให้เกิดความสะดวก ที่ล้าสมัยก็ควรปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้นปัจจุบันธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ภาคราชการต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวและคงอยู่ต่อไป

          นางพรรณแข นันทวิสัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกรรมทางการเงิน กล่าวว่าภาคเอกชนจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศเพื่อปรับลดขั้นตอน ทดแทนกระบวนการหลังบ้านที่เน้นเอกสารจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระสำหรับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าระหว่างองค์กรธุรกิจกับธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ทั้งนี้การจัดทำแพลตฟอร์มจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำต้นแบบโดยคาดว่าภายในปีหน้าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและส่งออก ทำให้เกิดความรวดเร็ว และค่าจ่ายถูกลง

         นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่า พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ ที่กำหนดให้ไม่มีการสำเนาเอกสาร และปรับมาเป็นการออกเอกสารดิจิทัลนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยดีขึ้น ถ้าหากต้องการให้ประเทศพัฒนาขึ้น จะต้องให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ทั้งนี้การดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีการเปิดเผย โปร่งใส และรวดเร็ว และมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายมีทัศนคติที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม

         จากนั้นเป็นการแถลงข่าว เรื่อง บริการภาครัฐฉับไว ได้ด้วยมาตรฐานเอกสารราชการแบบดิจิทัล โดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายสรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลการแถลงข่าว ได้ที่ 
https://www.opdc.go.th/…/rea…/MWRhfHw0ODEyfHxmaWxlX3VwbG9hZA


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ