ธนาคารโลกชี้ ไทยขึ้นแท่นอันดับ 21 ของโลก สะท้อนถึงความมุ่งมั่นจริงจังของหน่วยงานภาครัฐ

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ธนาคารโลกร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเพื่อรับฟังการประกาศผลการจัดอันดับความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจ โดยมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ร่วมแถลงผลร่วมกับ Ms. Joyce Antone Ibrahim, Private Sector Development Specialist, World Bank ณ ห้องประชุมสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย

         นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ในปี 2020 ธนาคารโลกจัดอันดับให้เป็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ใกล้เข้าสู่ กลุ่ม Top 20 ของโลก และที่สำคัญมีคะแนนรวมทุกด้านสูงถึง 80.1 คะแนน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีคะแนนห่างจากประเทศฟินแลนด์ที่มีอันดับสูงกว่า เพียง 0.1 คะแนนเท่านั้น ผลการจัดอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 โดยมีการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริการภาครัฐสะดวกขึ้น”ทั้งนี้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และภาครัฐมีการปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

         ในแง่ตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุดซึ่งสะท้อนการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ จนติด Top 10 ของโลก มี 2 ด้าน คือ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ได้อันดับ 3 ของโลก และด้านการขอใช้ไฟฟ้า ได้อันดับ 6 ของโลก แล้วยังมีด้านที่เป็นการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง

         Dr. Firas Raad, Representative to Malaysia and Country Manager, World Bank กล่าวว่า รายงาน Doing Business ปีนี้ ธนาคารโลกต้องการที่จะส่งเสริมการกำกับดูแลธุรกิจให้เกิดความราบรื่น ให้ทุกประเทศมีความง่ายในการประกอบธุรกิจ และสร้างบรรยากาศในการลงทุน

         Mr. Arvind Jain, Senior Economist/Statistician, World Bank กล่าวว่า มีการนำ Case study มาเป็นมาตรฐานในการวัด ครอบคุลมในเรื่องของการประกอบธุรกิจ เศรษฐศาสตร์มหภาค แรงงาน กฏระเบียบ กรอบเวลาและกรอบทางกฏหมาย สำหรับประเทศไทยมีคะแนนค่อนข้างดี โดยพิจารณาดูจากระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และกระบวนการทำงาน

         Enrique Margherita (TBC) กล่าวถึงปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นสภาพแวดล้อมต่อการประกอบธุรกิจของประเทศที่ติดอันดับความยาก-ง่าย 20 อันดับแรก ได้แก่ การนำระบบออนไลน์มาใช้ในการดำเนินการ ปรับปรุงกรอบกฎหมายและข้อบังคับที่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน ตลอดจนการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงาน

         Ms. Joyce Antone Ibrahim, Private Sector Development Specialist, World Bank กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้ปฏิรูปเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจกว่า 33 มาตรการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปด้านการให้สินเชื่อ และการขอไฟฟ้า อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลในเรื่องของการจัดการข้อพิพาททางพาณิชย์

         สำหรับการจัดอันดับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สิงคโปร์ติดอันดับ 2 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อันดับ 3 มาเลเซียอันดับ 12 ไต้หวันอันดับ 15 ไทยอันดับ 21 ซึ่งไทยมีอันดับที่ใกล้เคียงกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ทั้งนี้ ประเทศจีนอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของโลกที่มีพัฒนาโดดเด่น เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หากพูดถึงประเทศไทยแล้ว มีการดำเนินการได้ดีในด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ซึ่งนับเป็นตัวชี้วัดที่ยากในการปฏิรูป ลดระยะเวลาการทำงาน จาก 2.7 ปี ในปี 2004 เหลือเพียง 1.5 ปี ใน Doing Business 2020

         Dr. Birgit Hansl, Country Manager for Thailand, World Bank connected via video conference from Washington DC กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศจะต้องมีการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของ SMEs ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างงานและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญคือความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบทบาทขอธนาคารโลกในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลื่อนอันดับให้ดีขึ้น ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ร่วมดำเนินการในกระบวนการเก็บข้อมูลกับสำนักงาน ก.พ.ร. อย่างต่อเนื่อง

         และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับทุกประเทศ ยิ่งมีอันดับสูงขึ้นความยากในการปฏิรูปยิ่งทวีคูณ เนื่องจากต้องอาศัยทั้งระยะเวลา ทรัพยากร และเสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้น แรงผลักดันในการปฏิรูปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงต้องดำเนินต่อไปด้วยความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องมีทั้งความมุ่งมั่น ความพยายาม และสานพลังทุกภาคส่วน


ธนาพร / ชนันภรณ์ / ข้อมูล
กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ