สำนักงาน ก.พ.ร. กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าลดอัตราการเปิดตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลกด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

         1. การประชุมนี้สืบเนื่องจากมติการประชุมรายงานผลการดําเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสําหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่มีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         2. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจเป็นการนำแนวทางการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการตรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดนมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินการผ่านแดน (Time for border compliance) และลดการใช้ทรัพยากรของส่วนราชการที่มีแนวโน้มคงที่ แต่กลับมีปริมาณใบขนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีการดำเนินการจนประสบผลสำเร็จมาแล้ว 41 เขตเศรษฐกิจ

         3. ในปัจจุบันกรมศุลกากรสามารถลดอัตราการเปิดตรวจเหลือไม่เกินร้อยละ 30 ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 20 จากการนำการบริหารความเสี่ยงมาใช้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะไม่มีการเปิดตรวจหากผู้ประกอบการได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดีมี 4 หน่วยงานที่ต้องมีการเปิดตรวจเกือบทั้งหมดได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และ อย. ส่วนกรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะมีการตรวจตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

         4. ในการดำเนินการของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และ อย. จะนำเสนอแผนการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ทางสำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวมเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการปฏิรูปการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Reform Update DB 2021) ต่อไป ส่วนหน่วยงานที่เหลือทางกรมศุลกากรขอความร่วมมือให้ระบุแนวปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรดำเนินการได้ถูกต้องในแต่ละการจัดส่งสินค้า (Shipment) ต่อไป

         5. ตัวอย่างการปฏิรูปที่น่าสนใจ ได้แก่ กรมประมงจะนำระบบแจ้งตรวจสินค้าประมงภายใต้หลักบริการจัดการความเสี่ยง (Smart FSW) ผ่านระบบ Fisheries Single Window (FSW) มาใช้ภายในเดือนมกราคม 2563


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ