ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ จากต้นแบบสู่การขยายผล ก้าวสู่ “Decade of Action”

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันศุกร์ ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมเรื่อง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ...พลิกโฉมงานบริการภาครัฐด้วยนวัตกรรม” เพื่อเปิดตัวโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab: Gov Lab) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ณ ห้อง Auditorium ชั้น ๓ C asean อาคาร ThaiBev Quarter โดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุม และได้รับเกียรติจาก Mr. Renaud Meyer, Resident Representative โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย กล่าวปาถกฐาพิเศษเรื่อง “Striving towards Innovative Government: A Global View”

         โครงการ Gov Lab ในปีนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการร่วมกับ UNDP มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้

          1. ด้านงานบริการภาครัฐ ดำเนินการโดยที่ปรึกษาโครงการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐโดยแบ่งตามประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ 1) การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2) การให้บริการด้านที่ดิน 3) การส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

          2. ด้านหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการโดยที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐโดยแบ่งตามหน่วยงานภาครัฐที่มีงานบริการที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร กองทัพบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และสำนักงาน กสทช.

         สรุปประเด็นสำคัญของการประชุมในวันนี้

         - การอุบัติขึ้นของ Disruptive Technology กระตุ้นให้ภาครัฐปรับตัว และนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด

         - นวัตกรรมไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นเฉพาะเทคโนโลยีสุดล้ำแต่คือการปรับเปลี่ยนการทำงานที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

         - นวัตกรรมจะต้องฝังอยู่ใน DNA ของหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนองค์การ

         - ปี 2020 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นถนนสายนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแม้เทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนามาแล้วก็ตาม

         - ปี 2020 – 2030 จะเป็น “Decade of Action” ทศวรรษแห่งการนำ prototypes และไอเดียไปสู่การปฏิบัติที่จะสร้างผลกระทบวงกว้างให้กับประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

         - ความท้าทายของประเทศไทยคือการสร้างความตื่นตัวและความตระหนักในการที่จะนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม และการรับมือในเรื่อง Data privacy

         ทั้งนี้ โครงการ Gov Lab ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนสิงหาคม 2563 พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐเพื่อยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ