คณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) นำทีมโดยนางนันทนา ธรรมสโรช รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวมัตติกา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้เข้าพบนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) ในส่วนราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. นำทีมโดยนางนันทนา ธรรมสโรช รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวมัตติกา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 2 นายจิรวัฒน์ ระโหฐาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เข้าพบนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e-Service ของหน่วยงานภาครัฐ มีเป้าหมายสำคัญคือ การให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

         งานบริการเป้าหมายของกระทรวงฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

         1. งานบริการ Agenda ที่กำหนดไว้เดิม คือ “การพัฒนาระบบจ่ายยา (เพื่อลดระยะเวลาการคอยยาในโรงพยาบาล)” โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเลือกรับยา ณ ร้านยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการดำเนินการเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัดของแต่ละกรมเท่านั้น โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกันในการผลักดัน เรื่อง “ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์” ให้เป็น Agenda ของกระทรวง เนื่องจากมีความเป็นได้ในการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงสาธารณสุขจะได้หารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง

         2. งานบริการที่ยกระดับการให้บริการเพื่อยกระดับ e-Service ดังนี้

             2.1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิต – การพัฒนาระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) ยกระดับจาก L2 ถึง L3
             2.2 กรมการแพทย์ – การพัฒนาระบบบริการแพทย์ทางไกล (ระบบ DMS (Department of medical services) Telemedicine (Application)) ยกระดับจาก L0 ถึง L3
             2.3 กรมควบคุมโรค - การพัฒนาระบบการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดอาหารปลอดโรค (Pink forms) ยกระดับจาก L1 ถึง L2
             2.4 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก – การพัฒนากระบวนการรับสิทธิ์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร ยกระดับจาก L1 ถึง L3
             2.5 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ – การพัฒนาระบบการขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาต ยกระดับจาก L2 ถึง L3
             2.6 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ – การพัฒนาระบบการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ (iLab Plus) ยกระดับจาก L1 ถึง L3
             2.7 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา – การพัฒนาระบบใบจดทะเบียน/แจ้งรายละเอียดอาหาร ยกระดับจาก L2 ถึง L3

         3. กรมอนามัย - การพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล (Digitize Data) เพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนงานบริการ Agenda และการยกระดับ e-Service ของกระทรวงสาธารณสุขตามที่ได้หารือกันในวันนี้ และจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อไป

กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ