การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) ในส่วนราชการ

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 คณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) ในส่วนราชการ ได้มีการประชุม โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหาร และคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ณ ห้องประชุม 501-502 ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน e-Services และแผนการทำงานในระยะต่อไปของคณะทำงานฯ สรุปได้ ดังนี้

         แผนการทำงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานบริการ e-Service ส่วนราชการ

         - แบ่งกลุ่มงานบริการ เป็น 3 กลุ่ม ในการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการ ตามความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน กล่าวคือ ลงพื้นที่ทุก 2 สัปดาห์

         สำหรับหน่วยงานที่ขาดความพร้อมในทุกด้าน ลงพื้นที่อย่างน้อย 1 เดือน/ครั้ง สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมด้าน IT และมีงบประมาณ และลงพื้นที่อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินงานด้วยตนเองได้

         - จัดให้คำปรึกษาส่วนราชการผ่านระบบออนไลน์ Zoom ทุกเดือน
         - จัดกิจกรรมให้ความรู้ พร้อมทั้งมีการติดตามเป็นระยะ โดย 79 งานบริการ จะมีรูปแบบการติดตามแบ่งออกเป็นกลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ต้องคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด 2) กลุ่มที่มีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ และ 3) กลุ่มที่สามารถให้ส่วนราชการดำเนินการได้เอง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินการ

         สำรวจปัญหาอุปสรรคในการพัฒนา e-Service ของส่วนราชการ ทั้งในเรื่องของระบบ IT งบประมาณ กฎหมาย การเชื่อมโยงข้อมูล ฯลฯ โดยจะขอความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) มาช่วยในการตอบปัญหาเชิงเทคนิค หรือการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา IT ให้แก่ส่วนราชการ นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาเพื่อสร้างความร่วมมือจากภาคเอกชนในการมาสนับสนุนพัฒนาระบบบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐ

         ประเด็นการพัฒนาระบบบริการของส่วนราชการมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำกฎหมายกลางที่จะมาสนับสนุนการเปลี่ยนกระบวนการทำงานของภาครัฐตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัล (Digital Ecosystem) ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. เห็นควรให้คณะทำงานฯ เร่งสำรวจปัญหาด้านกฎหมายของส่วนราชการ เพื่อรวบรวมให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำไปประกอบในการร่างกฎหมาย เพิ่มเติมเพื่อปลดล็อคข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานแทนกันของแต่ละหน่วยงาน

         การจัดคลินิกให้คำปรึกษา ตามที่กำหนดในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด ให้ปรับเป็นการจัดผ่านระบบออนไลน์แทน โดยจะแบ่งเป็นเรื่องของการให้ความรู้เชิงเทคนิคในทางปฏิบัติกับส่วนราชการ และการให้คำปรึกษาโดยแบ่งตามเป้าหมายในการยกระดับงานบริการ ยื่นคำขอทางออนไลน์ (L1) ชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ (L2) ออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ (L3) และเรื่องของ Open Data

         การ Re-Process เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาระบบบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องเห็นภาพกระบวนการทำงานทั้งหมดในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การ reprocess ได้ถูกต้อง รวมถึงนำผู้ที่เคยจัดทำกระบวนการ reprocess สำเร็จมาเป็นตัวอย่างการดำเนินการ และให้ความรู้แก่คณะทำงานฯ ด้วย เพื่อให้เห็นแนวทาง รวมถึงมุมมองต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในการให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการ

         ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้มอบหมายทีมกลาง และคณะทำงานฯ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน e-Service ของส่วนราชการ ดังนี้

         1. ให้สำรวจงานบริการ e-Service ของกรม 280 งานบริการที่เคยสำรวจไปเมื่อตอนต้นปี ว่ายังสามารถให้บริการประชาชนได้เต็มประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ เพื่อรองรับสถานการณ์โควิทระบาดใหม่

         2. ให้สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การให้บริการ e-Service ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ทำ clip หรือ info graphic โดยอาจแบ่งตามกลุ่มผู้รับบริการ (ประชาชน แรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจ) เพื่อให้เป็นที่รับทราบในวงกว้างมากขึ้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของกรม

         3. เห็นควรรายงานการดำเนินการขับเคลื่อน e-Service ของส่วนราชการ โดยให้มีการแจ้งรายชื่องานบริการที่เสนอพัฒนาเป็น e-service ตามตัวชี้วัด รวมถึง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และแนวทางแก้ปัญหาในการดำเนินการ เพื่อให้ ก.พ.ร. รับทราบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ