การประชุมคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณและการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน Zoom)

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 9.30 น. ได้มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณและการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน Zoom)

         สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการ ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (อ.ก.พ.ร.ฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ได้พิจารณาการแก้ไขข้อจำกัดในการบริหารงานจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง เรื่อง การโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แล้วมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาชุดหนึ่ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและการบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และรายงาน อ.ก.พ.ร.ฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

         คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณและการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมีนางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ อนุกรรมการฯ เป็นประธานคณะทำงาน และมีอนุกรรมการฯ เป็นคณะทำงาน ประกอบด้วย นางประนอม คำเที่ยง นายธวัชชัย ฟักอังกูร และนายวีระศักดิ์ เครือเทพ และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดร่วมเป็นคณะทำงาน ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกรมธนารักษ์ โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวสุรุ่งลักษณ์ เมฆะอำนวยชัย) เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นคณะทำงานงานและเลขานุการร่วม ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานเกี่ยวกับการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สินทรัพย์คงค้างสะสม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2562 (สะสาง) โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์รากสาเหตุ (Root Cause Analysis) ปัญหาการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด และกลุ่มที่ 2 สินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (สร้างระบบใหม่) แนวคิด Design Thinking ระบบการโอนสินทรัพย์ โดยมองเชิงระบบ ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง โดยมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และได้มีประเด็นข้อหารือร่วมกัน

         ที่ประชุม ได้หารือร่วมกัน โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การปลดล็อคข้อจำกัดต่อไปในอนาคต เช่น

         • สินทรัพย์ที่คงค้างสะสมที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2562 กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการสำรวจสถานะและสาเหตุที่แท้จริง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางแก้ไขต่อไป
         • การใช้ที่ราชพัสดุของจังหวัด กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนในนามจังหวัด ซึ่งมีรหัสของจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งกรมธนารักษ์จะจัดทำหนังสือเวียนแจ้งกระทรวงมหาดไทยและธนารักษ์พื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการอย่างถูกต้อง
         • การลดขั้นตอนการโอนสินทรัพย์ กรมบัญชีกลางรับไปหารือและศึกษาแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้ถือว่าเป็นการรับโอนสินทรัพย์ของหน่วยรับโอน
         • การบำรุงรักษา ดูแลสินทรัพย์ของจังหวัดระหว่างรอโอนให้กับหน่วยงานอื่น อาจต้องเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.ก.บ.ภ.) ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่เกี่ยวกับการใช้งบบริหารจัดการ และการใช้เงินเหลือจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

         ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้ผู้แทนคณะทำงานฯ นำข้อสรุปข้อหารือ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมครั้งนี้ หารือและข้อเสนอต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบงานดังกล่าวของหน่วยงานของตน เพื่อนำผลสรุปประกอบการพิจารณาของคณะทำงานในครั้งต่อไป ซึ่งนัดหมายเบื้องต้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จากนั้นจึงจัดทำข้อสรุปแนวทางการแก้ไขเชิงระบบ นำเสนอต่อ อ.ก.พ.ร.ฯ ต่อไป



กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ