การประชุมหารือการเชื่อมโยงการดำเนินงานของ อ.ก.พ.ร. ฯ 2 คณะ (อกพร.ส่วนร่วมฯ และ อ.ก.พ.ร. ภูมิภาคฯ) ในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และนางสาวสุรุ่งลักษณ์ เมฆะอำนวยชัย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการดำเนินงานของ อ.ก.พ.ร.ฯ 2 คณะ ในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (อ.ก.พ.ร. ส่วนร่วนฯ) และ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (อ.ก.พ.ร. ภูมิภาคฯ) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แอแพลิเคชั่น Zoom)

         สรุปการประชุมได้ดังนี้

         (1) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) กำหนดใน สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกองพัฒนาระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค รับผิดชอบกิจกรรมที่ 4 สร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการในระดับพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เป้าหมายหลัก 1 มีกลไกการทำงานที่บูรณาการ/เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยพัฒนารูปแบบการทำงานที่เน้นการบูรณาการ/เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การทบทวนบทบาทภารกิจและระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค

         (2) อ.ก.พ.ร. ภูมิภาคฯ ได้ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ โดยกำหนดประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) ที่เน้นการทำงานบูรณาการเพื่อกำหนดรูปแบบการทำงาน ในเรื่อง การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 1) เพื่อสร้างและพัฒนากลไกการทำงานที่เน้นการบูรณาการ/เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน และ 2) จัดโครงสร้างส่วนราชการในส่วนภูมิภาคเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ของยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่สู่ยุทธศาสตร์ชาติ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ

         (3) อ.ก.พ.ร. ส่วนร่วมฯ ได้ดำเนินการเรื่อง การสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งจากลงพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลำปาง โดยมีองค์ประกอบของ OG&MP ได้แก่ 1) เปิดเผยข้อมูล (open data) เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ 2) จัดเก็บข้อมูลที่สำคัญเข้าสู่ระบบ 3) นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา 4) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 5) บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด 6) เสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวก 7) ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ และ 8) กำหนดตัวชี้วัดร่วมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเน้นผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact)

         ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า สำหรับการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศฯ นั้น อ.ก.พ.ร. ทั้ง 2 คณะ สามารถเชื่อมโยงการการดำเนินงานในภาพรวมของ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้อย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ดังนี้

         (1). อ.ก.พ.ร. ส่วนร่วมฯ มุ่งเน้นการดำเนินการสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐแก่ประชาชนบนข้อมูล “ชุดเดียวกัน” (One data) และบน “แพลตฟอร์มกลาง” เดียวกัน ต้องอาศัยความร่วมมือจาก สพร. GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ

         (2). อ.ก.พ.ร. ภูมิภาคฯ มุ่งเน้นการดำเนินการในส่วนของการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยยกตัวอย่างของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักการการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งมีทั้งหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานส่วนกลางในภูมิภาค และหน่วยงานส่วนภูมิภาค