การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันนี้ (7 มิถุนายน 2564) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

         1. กรมควบคุมมลพิษ
         2. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
         3. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
         4. UNDP ประเทศไทย
         5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
         6. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
         7. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

         ผลจากการประชุม สรุปได้ดังนี้

         1. หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 จำนวน 16 รายการ เช่น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เผาไหม้/พื้นที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก สถานการณ์การเผาของประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาสุขภาพของประชาชน สถานที่เสี่ยงในพื้นที่ ข้อมูลจากภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม Timeline และ Time Series เป็นต้น

         2. บทบาทการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

             - การพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง --> GISTDA
             - การสนับสนุนข้อมูล --> กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ GISTDA สกสว. สสส. UNDP TCAR ข้อมูลจังหวัด ฯลฯ
             - การเชื่อมโยงฐานข้อมูล --> GISTDA สพร.
             - การเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความตระหนัก --> ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย GISTDA สพร. สสส. สกสว. UNDP TCAR จังหวัด ฯลฯ

         3. ระยะเวลาการดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์ม --> มิถุนายน – สิงหาคม 2564

         4. ข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ดังนี้

             1) ข้อมูลที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มควรมีการอัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นอัตโนมัติที่สุด เพื่อลดการใช้บุคลากรในการกรอกข้อมูล โดยฐานข้อมูล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ข้อมูลที่มีการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และ ข้อมูลที่ต้องมีการอัพเดทเป็นรายเดือนหรือรายปี

             2) ฐานข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ ฐานข้อมูลเรื่องแหล่งกำเนิดของมลพิษในพื้นที่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การจราจร การเผาในที่โล่ง ฯลฯ เพื่อใช้ในการประเมินค่าการระบายมลพิษ PM 2.5 ซึ่งฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษจะเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และสามารถทำเป็นแผนที่แสดงให้เห็นได้ว่าในพื้นที่ต่าง ๆ มีการปล่อยค่า PM 2.5 มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

             3) ในกรณีของจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ หลายหน่วยงานมีความเห็นว่าควรให้มีการนำ Low cost sensor เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลค่า PM 2.5 ในพื้นที่ โดยทาง อว. จุฬา มช. สามารถช่วยสนับสนุน Low cost Sensor ให้แก่จังหวัดสิงห์บุรีได้ ซี่ง Sensor ที่มีอยู่ มีค่าความแม่นยำ 85 % ซึ่งที่ UNDP Argentina ได้มีการนำ Low cost sensor เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

             4) การบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง สกสว. มีงานวิจัยมากมายที่สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของประเทศได้ เช่น ผลงานด้านการจำแนกและติดตามฝุ่น ผลงานด้านการลดฝุ่นที่จุดกำเนิด ผลงานด้านการป้องกัน/กำจัดฝุ่น ฯลฯ

             5) UNDP ประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ของต่างประเทศที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ เช่น แพลตฟอร์มของต่างประเทศ วิธีการเก็บข้อมูลจากประชาชนและจาก Social Media ต่าง ๆ เช่น ประเทศอาร์เจนติน่าให้ประชาชนถ่ายรูปแจ้งเหตุเข้ามา หรือ ให้ประชาชนช่วยเก็บข้อมูลค่าฝุน PM 2.5 โดยมีการนำ Sensor ไปติดที่จักรยานของประชาชน และในระหว่างที่ขี่จักรยานไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็จะเป็นการเก็บข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 ในสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ปัจจุบัน UNDP ยังมีการดำเนินการเรื่อง Social Innovation Platform ซึ่งเป็นการมองปัญหาในหลายมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ด้วยเช่นเดียวกัน