การประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2564

แชร์หน้านี้



         สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการส่งเสริม และพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2564 ในวันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนายไมตรี อินทุสุต เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการการแก้ไขข้อจำกัดในการบริหารงานจังหวัดเกี่ยวกับกรณีโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้

         1. การพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (จังหวัด HPP) รับทราบรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง มีจังหวัดร่วมดำเนินการทั้งสิ้น ในปี 2564 รวม 33 จังหวัด โดยจังหวัดได้คัดเลือกประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) ในการขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นด้านการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านลดผลกระทบทางสังคมและความมั่นคง ตามลำดับ และรูปแบบ/กลไกการพัฒนา รวมทั้งมีประเด็นข้อเสนอปลดล็อคข้อจำกัด ในการบริหารงานจังหวัดภาพรวมในเชิงระบบ กระบวนการ งบประมาณ และบริหารทรัพยากรบุคคล นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการได้รับทราบกลไกการดำเนินการขับเคลื่อนและสนับสนุนจังหวัดในเรื่องดังกล่าว โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. 4 ท่าน เป็นหัวหน้าทีมรวมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) จำนวน 4 ทีม

         โดยมีข้อสังเกตให้สำนักงาน ก.พ.ร. และ สป.มท. ดำเนินการชี้แจงสร้างความเข้าใจระหว่างทีมขับเคลื่อน กับจังหวัดเริ่มดำเนินการทั้ง 33 จังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาฯ ร่วมกัน รวมถึงการขับเคลื่อนที่คำนึงถึงความสมดุลและความเหมาะสมของการดำเนินการ เพื่อหา Platform หลักของการขับเคลื่อนรวมกันในทุกประเด็น Agenda

         2. การพัฒนากลไกการทำงานที่เน้นการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ (1? วาระสำคัญ / กรม : 2 จังหวัด)
พิจารณาเห็นชอบประเด็นศึกษาการพัฒนากลไกการบริหารที่เน้นการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานในระดับจังหวัด ใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การแก้ไขราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (2) การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง รายครัวเรือน และ (4) การแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมอบหมายคณะทำงาน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษารายละเอียดการจัดทำรูปแบบเชิงบูรณาการในส่วนกลางถึงการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ เพื่อเสนอในที่ประชุม อ.ก.พ.ร. ฯ ภายในเดือนเมษายน ต่อไป

         โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการมในพื้นที่เพื่อการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (จังหวัด HPP) จึงอาจจะพิจารณาขับเคลื่อนในจังหวัดเริ่มดำเนินการ HPP ด้วย

         3. การแก้ไขข้อจำกัดในการบริหารงานจังหวัดในการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด เพื่อเป็นการปลดล็อคการทำงานของจังหวัดที่มีปัญหาในการไม่มีเจ้าภาพดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน การซ่อมแซม บำรุงรักษาอาคาร พัสดุ หรือทรัพยสินอื่นๆ จากงบประมาณโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดที่ได้งบประมาณเป็นรายปีจึงพิจารณาเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด กรณีครุภัณฑ์ ใน 2 แนวทาง คือ (1) ให้การรับโอนสินทรัพย์ปรากฏในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยให้จังหวัดระบุวัตถุประสงค์ที่จะมอบพัสดุให้แก่หน่วยงานใดๆ ตั้งแต่ต้น และระบุวัตถุประสงค์นั้นไว้ในขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณ และ (2) จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างจังหวัดและกรมต้นสังกัดของหน่วยงานในจังหวัด โดยนำร่องกับกรมต้นสังกัดของหน่วยงานในจังหวัด เนื่องจากในระดับจังหวัด มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดระหว่างจังหวัดกับหน่วยงานในจังหวัดแล้ว รวมทั้งเห็นชอบให้ ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการให้จังหวัดสามารถโอนพัสดุให้หน่วยงานได้ตามที่กฎหมายกำหนด และให้ศึกษาสำรวจข้อมูลจังหวัดเกี่ยวกับการถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างจังหวัดและกรมต้นสังกัดของหน่วยงานในจังหวัด เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อนำร่องการจัดทำบันทึกข้อตกลงการโอนสินทรัพย์ และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

         โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้แต่งตั้งคณะทำงานจากอนุกรรมการฯ บางท่าน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นร่วมกับหน่วยงานกลาง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยจัดทำรายละเอียดข้อมูล รูปแบบขั้นตอนการดำเนินงาน และเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้สามารถดำเนินการจัดทำตั้งแต่แผนพัฒนาจังหวัด งบประมาณ และแผนการบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว? โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนของ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการเงินและงบประมาณ ต่อไป



กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ