สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ครั้งที่ 2/2564

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมฝ่ายบริหาร ชั้น 5 และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจจากการประชุม ดังนี้

         1. ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบการประกอบกิจการที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ดังนั้น จึงกำหนดเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการ โดยอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรับรองผลได้ด้วยตนเอง (Self – Declaration) มีการถ่ายโอนไปยังภาคเอกชน หรือกำหนดให้มีการตรวจสอบแบบทางไกล โดยแบ่งลักษณะของกิจการออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

             - กลุ่มที่ 1 กิจการที่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อประชาชนต่ำ

             - กลุ่มที่ 2 กิจการที่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อประชาชนปานกลาง

             - กลุ่มที่ 3 กิจการที่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อประชาชนสูง

         ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ควรจะต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน โดยนำข้อมูลในเชิงสถิติ ข้อร้องเรียนต่าง ๆ มาประกอบ พร้อมทั้งความชัดเจนของการมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียน มีบทลงโทษเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นมาตรฐาน เป็นต้น

         2. รับทราบผลการดำเนินการ/ความก้าวหน้าการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

             (1) รายงานความก้าวหน้าในการทบทวนและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ โดยสำนักงาน ก.พ.ร.จะเร่งรัดการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมของหน่วยงานในกลุ่มที่พิจารณายกเลิกใบอนุญาต ยกเลิกและลดค่าธรรมเนียมให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ส่วนราชการพัฒนาการออกเอกสารผ่านระบบดิจิทัล และการจัดทำแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-form)

             (2) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนางานบริการจดแจ้งในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนกับกลุ่มหน่วยงานเป้าหมาย 5 หน่วยงาน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถพัฒนาให้แล้วเสร็จ จำนวน 27 งานบริการ จาก 31 งานบริการเป้าหมายที่จะดำเนินการในปี 2564 และผลักดันให้เกิดการขยายผลในหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

             (3) รายงานความก้าวหน้าการศึกษาเรื่องการขออนุญาตประกอบธุรกิจได้ใน 1 ใบอนุญาต (Super License) ที่ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการได้ต่อไป


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ