การประชุมหารือเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ UNDP ประเทศไทย และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

         ผลจากการประชุมสรุปได้ดังนี้

        1. GISTDA อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จังหวัดลำปาง และสิงห์บุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก UNDP ประเทศไทย ในการนำเสนอแหล่งข้อมูลตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น
            -https://openaq.org/#/why
            -http://hazegazer.org/#m-taketour
            -https://www.google.com/earth/outreach/special-projects/air-quality/
            -https://www.iqair.com/unep

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. GISTDA และ UNDP ประเทศไทย จะร่วมกันเสริมการทำงานในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ร่วมกันต่อไป

         2. ตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของต่างประเทศ คือ การเสริมพลังให้แก่ประชาชน (Empowering citizens) เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่ภาครัฐ และนำข้อมูลมาประมวลผล โดยใช้ระบบ AI ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันจากภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มีการให้ประชาชนส่งข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านสื่อ Social Media ต่าง ๆ เช่น Facebook Line เพื่อนำมาแสดงผลบน Dashboard รวมทั้งมีการนำข้อมูลคุณภาพอากาศและข้อมูลสุขภาพของประชาชนมาประมวลผลและให้คำแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล

         3. แนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป คือ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ (Payments for Ecosystem services : PES) คือ การเก็บผลประโยชน์จากผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศ เช่น บริษัทที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผลประโยชน์เหล่านั้นจะถูกโอนไปยังชุมชน เกษตรกร หรือเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้รักษาสิ่งแวดล้อม