สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้

         1. แนวทางการดำเนินการให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจได้ศึกษาข้อมูลในมิติต่าง ๆ และเสนอรูปแบบการดำเนินการ ดังนี้

             ระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติเป็นระบบที่จำเป็นจะต้องส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บริการ โดยประโยชน์หลักที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากระบบฯ คือ ความสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ระดับการให้บริการจะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ให้บริการได้ 24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการชักจูงให้ผู้ประกอบการสนใจใช้บริการ รวมทั้งมีแนวคิดที่จะเสนอบริการใหม่ ๆ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ องค์กรเอกชนมีความเชี่ยวชาญและเหมาะสมที่จะเป็นผู้ดำเนินการ

             ระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานภาครัฐ องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา ฯ จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานกับหน่วยงานเหล่านั้น เพื่อให้การประสานงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยมีผลประโยชน์หลักคือการให้บริการผู้ประกอบการที่ดีขึ้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการทำงานในภาครัฐมาเป็นระยะเวลานาน มีความเหมาะสม ที่จะเป็นหน่วยงานคู่สัญญาฯ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้ระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติบรรลุเป้าหมาย

             เนื่องจากระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติมีข้อมูลที่มีความสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยในระดับสูง จึงเห็นควรที่จะต้องมีบทบาทของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบของการถือหุ้นส่วนหนึ่งของนิติบุคคลที่จะมาเป็นคู่สัญญา ในการให้บริการระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติ

             ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินการด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจในรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในลักษณะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีประเด็นสำคัญที่ควรต้องพิจารณาให้ครบถ้วน ได้แก่ 1) สัดส่วนของเงินทุนที่เหมาะสมจากรัฐบาลและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ 2) ประเด็นทางข้อกฎหมายในการพิจารณาอำนาจตามพรบ. PPP 3) รายละเอียดของสัญญาและสถานะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4) เงื่อนไขการต่อสัญญาและจำนวนปีที่เหมาะสม 5) การส่งเสริมให้เป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศเพียงแพลตฟอร์มเดียวที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงการใช้งานได้โดยง่าย และโอกาสในการแข่งขัน 6) การส่งเสริมการพัฒนา Application และการเชื่อมต่อระบบในทุกภาคส่วน 7) โครงสร้างการจัดเก็บรายได้และการกระจายต้นทุนที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย 8) การถ่ายโอนทรัพย์สินและการใช้งานข้อมูล เป็นต้น ซึ่งได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ ด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจนำแนวคิดการดำเนินการข้างต้นไปหารือกับคณะทำงานแต่ละด้าน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำแผนการดำเนินการและร่างวาระเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อมานำเสนอต่อที่ประชุม อกพร. และ กพร. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้เพื่อให้ระบบแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลแห่งชาติเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

         2. การแต่งตั้งคณะทำงานย่อย ภายใต้คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย

             ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอ การมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยทุกคณะ สามารถแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาและ ดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ในแต่ละด้าน ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม อันจะทำให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ มีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่รวดเร็ว สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด

             พร้อมกันนี้ กกร. แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สำนักงาน กกร. ได้ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน DE เพื่อพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับการแสดงผลงานในเวทีการประชุม APEC ปี 2565 โดยพัฒนาต่อยอดจากระบบต้นแบบที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบไว้ โดยจัดทำระบบแสดงการเชื่อมต่อกับต่างประเทศเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้เห็นภาพการทำงานของระบบต้นแบบ และทราบถึงประโยชน์ที่กลุ่มประเทศสมาชิกจะได้รับจากการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลแห่งชาติดังกล่าว