การประชุมเรื่อง “การรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) และ 10 ข้อเสนอ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Ten)”

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเรื่อง “การรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) และ 10 ข้อเสนอ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Ten)”เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธานการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 95 คน เข้าร่วมการประชุม สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

         1. ชี้แจงการยกเลิกการจัดทำรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก ธนาคารโลกได้แจ้งยกเลิกการจัดทำรายงาน Doing Business เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เนื่องจากพบความผิดปกติของข้อมูลในรายงาน Doing Business 2018 และ Doing Business 2020 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินบทบาทการเป็นองค์กรแห่งการพัฒนาและสร้างสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลให้แก่หน่วยงานภาครัฐทั่วโลก และจะหาแนวทางใหม่สำหรับการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนต่อไป โดยสำนักงาน ก.พ.ร. มีแนวทางการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ดังนี้

             1.1 ผลักดันและส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป (Doing Business Reform) ที่ได้จากธนาคารโลก
             1.2 ดำเนินการหาตัวชี้วัดที่เป็นระดับสากลอื่น ๆ มาใช้ในการประเมินเพื่อเทียบเคียงกับความสำเร็จของการดำเนินการ
             1.3 เตรียมความพร้อมเชิงรุกเพื่อรองรับแนวทางใหม่สำหรับการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของธนาคารโลก โดยการหารือร่วมกับภาคเอกชนในประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการภาครัฐ

         2. ผลการดำเนินการตามแนวทาง Doing Business มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

             2.1 การพัฒนาระบบ e-Service เช่น การพัฒนาระบบ e-Filing ให้ง่ายขึ้นของกรมสรรพากร
             2.2 การออกมาตรการดึงดูดการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การลดค่าธรรมเนียมเมื่อจดทะเบียนด้วยระบบ e-Registration ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
             2.3 การปรับปรุงกระบวนงาน เช่น กทม. มีแผนจะลดระยะเวลาการต่อระบบน้ำเสียสำหรับการขออนุญาตก่อสร้าง
             2.4 การแก้ไขกฎหมาย เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ

         3. ผลการดำเนินการตามแนวทาง Ten for Ten มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

             3.1 การขับเคลื่อนโครงการ Regulatory Guillotine ที่ก้าวหน้าถึงร้อยละ 80
             3.2 การพัฒนาระบบ Single Window for Visa and Work Permit และผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือ Smart Visa เพื่อรองรับแรงงานทักษะสูงและผู้พำนักระยะยาวต่างชาติ
             3.3 การพัฒนากระบวนงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ดำเนินการได้ครบทั้งหมด 175 ใบอนุญาต (คิดเป็นร้อยละ 100)

         4. รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายแนวทางการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ดังนี้

             4.1 แนวทางการดำเนินการสำหรับสำนักงาน ก.พ.ร.

                   1) ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอให้สำเร็จโดยเร็ว
                   2) ควรคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ควบคู่กับการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลภาครัฐด้วย เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลประชาชน
                   3) ศึกษาความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และแสวงหาแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเชิงรุกในขับเคลื่อนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
                   4) ติดตามและประเมินผลระบบการให้บริการดิจิทัลภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งสอบถามความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ

             4.2 แนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                   1) การดำเนินการตามแนวทาง Doing Business และ Ten for Ten ที่ผ่านมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจต่อไป เพื่อสร้างบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่ดี
                   2) ส่งเสริมให้ไทยเป็น One Stop Service ด้านการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน เพราะไทยมีพื้นฐานและศักยภาพที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและรองรับธุรกิจประเภทใหม่ ๆ
                   3) โลกจะมีความท้าทายใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมให้รองรับการทำงานแบบ Workation ซึ่งไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของคนทั่วโลก

         ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนและรายงานความคืบหน้าให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรวบรวมเสนอผลให้รองนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานสรุปผลความคืบหน้าการดำเนินการตามมติที่ประชุมในครั้งนี้ให้รองนายกรัฐมนตรีทราบในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564