การประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) .

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการ (นายสุนิตย์ เชรษฐา) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กับ UNDP ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองแม่เมาะ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ส่วนคลังปิโตรเลียมลำปาง โรงงานปูนซีเมนต์ไทย ลำปาง บริษัท SCG ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด

         ผลจาการประชุมสรุปได้ ดังนี้

         1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวคิดเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES) ซึ่งเป็นแนวคิดในการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินมูลค่าของระบบนิเวศและส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศจ่าย ซื้อ หรือตอบแทน ให้กับผู้ที่ดูแลรักษาอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อให้เกิด “Win-Win Situation” รวมทั้งได้รับทราบตัวอย่างการดำเนินการเรื่อง PES ของต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส คอสตาริกา และตัวอย่างของประเทศไทย เช่น พื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น

         2. ปัจจุบันหน่วยงานภาคเอกชนได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ในรูปแบบของ CSR เช่น การปลูกป่า การทำแนวกันไฟ การทำฝายชะลอน้ำ การส่งเสริมการจัดทำป่าชุมชน การให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่อง PM 2.5 การจัดทำโครงการ Zero Bern โดยมีการทำ MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดการเผาในพื้นที่ เช่น การรับซื้อปุ๋ยจากเศษใบไม้แห้ง การนำขยะบางส่วนไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง การรับซื้อวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งปัจจุบันสามารถแทดแทนการใช้ถ่านหินลิกไนต์ได้แล้ว 25%

         3. การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ร่วมกับภาคเอกชน สามารถดำเนินการได้โดยสร้างแนวทางและมีเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เห็นภาพรวมและผลที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทางภูมิศาสตร์เข้ามาช่วยวัดผลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ต่าง ๆ

         4. การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ประกอบด้วย นโยบายขององค์กร การดำเนินการ CSR ในรูปแบบใหม่ที่เน้นสร้างความยั่งยืน การเปลี่ยนวัสดุที่ไม่มีค่าให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า การสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กฏระเบียบของภาครัฐบางส่วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น การระบุประเภทของไม้ที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นพลังานชีวมวล เป็นต้น

         Next Step : ดำเนินการออกแบบระบบ PES ที่เหมาะสมกับจังหวัดลำปาง เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในระดับพื้นที่