สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ได้มีการปรับปรุงจากความเห็นของคณะทำงานฯ รวมถึงประเด็นที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน เอกชนและภาครัฐ โดยมีความเห็นที่น่าสนใจจากที่ประชุม ดังนี้

         1. การปรับชื่อ พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตที่จะรวมถึงงานบริการประชาชนด้วย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....”

         2. ให้ปรับนิยามคำว่า “ผู้อนุญาต” ให้รวมถึงกรณีที่ในอนาคตจะมอบหมายให้ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถดำเนินการแทนได้ โดยในกรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดว่าจะมอบใคร อาจกำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจาณามอบหมายหรือมอบอำนาจให้ใครเป็นผู้ดำเนินการได้

         3. การกำหนดขอบเขตการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ในกรณีไม่ให้ใช้บังคับในการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการอนุญาตตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีขอบเขตแค่ไหน เพื่อลดปัญหาการตีความของหน่วยงาน

         4. การกำหนดให้หน่วยงานพิจารณาทบทวนกฎหมาย ควรระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่ประเด็นการปรับปรุงการพัฒนาการให้บริการประชาชน รวมทั้งควรเปิดให้มีกลไกหรือช่องทางที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งทางฝั่งนโยบาย และภาคประชาชน ภาคเอกชน สามารถเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายได้

         5. กรณีที่หน่วยงานไม่รับเอกสารหรือไม่รับจดแจ้ง เพื่อเลี่ยงการนับเวลาให้บริการที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน หรือเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์ ควรพิจารณาว่าหน่วยงานใดที่ได้รับข้อร้องเรียนบ่อยครั้ง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขไว้ในกฎหมายต่อไป

         6. การให้บริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจพิจารณาวิธีการดำเนินการของกรมสรรพากร เป็นต้นแบบการดำเนินการ

         7. การกำหนดให้มีการพิจารณาอนุมัติโดยปริยาย กรณีเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว หน่วยงานยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าผู้อนุญาตอนุญาตให้ตามคำขอ หรือการทดลองประกอบกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะงานบริการที่สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วนในระยะแรก และเป็นงานที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจกำหนดเป็นบัญชีแนบท้าย ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564

         8. การปรับปรุงการให้บริการเกี่ยวกับการขออนุมัติ อนุญาตที่เกี่ยวข้องกับหลายใบอนุญาต ให้มีลักษณะเป็น super license โดยไม่ต้องขออนุมัติ อนุญาตหลายที่ รวมถึงการจัดทำแบบฟอร์มให้เป็นแบบฟอร์มเดียว (single form) ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการไปจัดทำ flow ของกระบวนการ super license เพื่อประกอบการพิจารณด้วย

         9. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขอบเขตระยะเวลาที่กำหนด การรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรนำประเด็นที่จะปรับแก้ไขพระราชบัญญัติไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเข้าใจง่ายกว่าการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งฉบับ โดยให้ฝ่ายเลขานุการไปเพิ่มเติมประเด็นที่คณะทำงานมีข้อเสนอแนะให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งให้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบของการออกกฎหมาย (RIA) ที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีด้วย

         ทั้งนี้ ความเห็นต่าง ๆ ของที่ประชุมจะได้มีการนำไปประกอบการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ…. รวมทั้ง ปรับปรุงแก้ไขประเด็นรับฟังความคิดเห็น เพื่อเปิดให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐได้แสดงความคิดเห็นนำไปสู่การปรับปรุงพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวต่อไป