สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลา 09:30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีวาระหารือที่สำคัญ ดังนี้

         แนวทางการดำเนินงานของ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีประเด็นที่ขับเคลื่อนต่อเนื่อง ได้แก่

          - การปรับบทบาทภารกิจของภาครัฐ : ดำเนินการขับเคลื่อนการถ่ายโอนงานsandbox ศึกษา Best Practice ของต่างประเทศ และจัดทำข้อเสนอการถ่ายโอนงาน
          - การจัดโครงสร้างส่วนราชการรูปแบบใหม่ : นำร่องแนวทางการบริหารราชการองค์กร 4.0/Ad hoc ที่ยกเว้นระเบียบบริหารราชการแบบเดิม
          - การพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจการจัดส่วนราชการ : ศึกษาแนวทางและวิธีการสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวในการบริหารราชการ และนำร่อง 2 ส่วนราชการ รวมทั้งพัฒนาหลักเกณฑ์ในระบบ PAS
          - การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ : อ.ก.พ.ร.ฯ ดำเนินการร่วมกับส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาและออกแบบโครงสร้างเนื่องจากมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และวางระบบติดตามการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ (Post Audit)
          - การลดสภาพความเป็นนิติบุคคลของส่วนราชการระดับกรม และการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดตั้งส่วนราชการให้มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น คล่องตัว โดยที่ประชุมได้อภิปราย และเห็นชอบตามความเห็นสำนักงาน ก.พ.ร. ว่าปัญหาความเป็นนิติบุคคลของกระทรวงและกรมบางอย่างได้ถูกแก้ไขไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น การจัดโครงสร้างของส่วนราชการที่ไม่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว และส่วนราชการไม่มีการบูรณาการการทำงาน เป็นต้น

         สำหรับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานภายในส่วนราชการที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 18 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นว่า ควรศึกษาเพิ่มเติมว่าส่วนราชการดังกล่าวยังคงมีความจำเป็นหรือไม่ และเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจให้บริการสาธารณะในเรื่องใดบ้าง รวมทั้งศึกษาความสามารถรองรับการจัดตั้งส่วนราชการรูปแบบใหม่ และที่ประชุมยังได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินด้วย

         นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการศึกษา “ทำไมการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐในประเทศไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จ (Why Outsourcing fails in Thailand ?)” โดยได้มีการรายงานสถานะการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐ ศักยภาพความพร้อม ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในมุมมองของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน