สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในการประชุม โดยจากการประชุมมีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ดังนี้

         1. รับทราบผลการพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ของแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย ซึ่งได้ทดสอบการเชื่อมต่อกับระบบ NSW และแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัล Taobao ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียบร้อยแล้ว
         2. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการด้านเทคนิคและมาตรฐาน
         3. พิจารณาแนวทางการดำเนินการให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP)
         4. พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยและเป้าหมายการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

         จากการรับทราบและพิจารณาประเด็นสำคัญดังกล่าวข้างต้น อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ NDTP ได้มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอ รวมถึงข้อสั่งการต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

          1. เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเทคนิคและมาตรฐาน ในประเด็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ที่มุ่งเน้นการยกระดับระบบต้นแบบ (Prototype) ไปสู่การให้บริการในเชิงพาณิชย์ที่ต้องคำนึงถึงการขยายขอบเขตการให้บริการเชิงปริมาณ (Volume) เพื่อให้สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมากได้ ตลอดจนมาตรฐานด้านเอกสารที่ใช้ในการทำธุรกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศคู่ค้า จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานของเอกสารร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศที่จะเชื่อมต่อ เพื่อให้การส่งผ่านเอกสารบนแพลตฟอร์ม NDTP เป็นไปตามหลักสากลและมีผลอ้างอิงได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

          2. จากแนวทางการดำเนินการให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มอบหมายให้คณะทำงานด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจ พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ประกอบด้วย
              1) ทบทวนการประเมินมูลค่าต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการให้บริการที่เหมาะสม ที่ทำให้สามารถให้บริการแพลตฟอร์ม NDTP ได้อย่างคุ้มทุน มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับผู้รับบริการ และช่วยลดต้นทุนด้านการนำเข้าและส่งออก
              2) ศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ที่สำคัญของภาครัฐแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม NDTP เช่น การได้รับค่าลดหย่อน และ/หรือ การได้รับบริการคืนภาษีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพื่อให้สามารถลดต้นทุนผู้ประกอบการ และเปลี่ยนการขาดทุนกลับเป็นกำไรได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันต่อไป
              3) ประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมของการดำเนินการในรูปแบบ PPP เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ตลอดจนพิจารณาความสอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐแก่ผู้รับบริการที่ทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม NDTP ด้วย
              4) ให้จัดทำแผนการดำเนินการโดยระบุเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

          3. อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ NDTP เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาและเป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ประกอบด้วย
              1) พัฒนารายละเอียดเชิงเทคนิคในระบบย่อยต่าง ๆ ต่อจากต้นแบบ (prototype) ที่ได้ศึกษาและออกแบบไว้ให้แล้วเสร็จ ภายในไตรมาสที่ 1 เพื่อพร้อมให้ผู้ให้บริการในรูปแบบ PPP นำไปใช้งานจริงต่อไป
              2) ดำเนินการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยจัดทำรายละเอียดการร่วมลงทุนให้แล้วเสร็จ ภายในไตรมาสที่ 2 และคัดเลือกผู้ให้บริการแล้วเสร็จ ภายในไตรมาสที่ 3
              3) ศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแบบไร้กระดาษ ตลอดจนวิเคราะห์อุปสรรคและพัฒนาแนวทางการแก้ไข ภายในไตรมาสที่ 4
              4) ทดสอบการเชื่อมต่อระบบกับแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศ Korea Trade Network (KTNET) สาธารณรัฐเกาหลี หรือ The Networked Trade Platform (NTP) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเอเปค (ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565) พร้อมขยายผลต่อไป

         ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยได้เมื่อดำเนินการตามรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566

         นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นในประเด็นที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คือ ควรมีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Re-process) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม NDTP ทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการให้บริการเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ประธาน อ.ก.พ.ร. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมคณะทำงานด้านระเบียบและกฎหมาย ที่สอดคล้องกับการปรับปรุงกระบวนการทำงาน อันจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ตามกรอบการดำเนินงานที่กำหนดไว้ และให้มีการนำเสนอต่อที่ประชุม อ.ก.พ.ร. ในครั้งต่อไป