หน่วยงานภาครัฐร่วมให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบกิจการหรือดำเนินกิจการ

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยกับหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 12 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก กรมการค้าต่างประเทศ กรมการปกครอง กรมธุรกิจพลังงาน กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และสำนักงาน อย. โดยสามารถสรุปประเด็นได้ ดังนี้

         1. เห็นด้วยในหลักการเกี่ยวกับการนำปัจจัยหลัก ประกอบด้วย ขนาดของกิจการ ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการใช้ทรัพยากรมีค่าของประเทศ มากำหนดเป็นปัจจัยในการพิจารณาความเสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและชัดเจนควรมีการพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น มูลค่าการลงทุน องค์ความรู้/ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาชีพ เนื่องจากบางงานถึงแม้เป็นกิจการขนาดเล็ก แต่เป็นงานมีความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนสูง
         2. ปัจจุบันหน่วยงานมีการดำเนินการตรวจสอบกิจการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะของงานอยู่แล้ว เช่น กรมการค้าต่างประเทศมีแนวทางที่ให้ผู้ประกอบการรับรองผลการประกอบกิจการด้วยตนเอง (Self-Declaration) กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบแบบทางไกลในงานวัตถุอันตราย (Remote Inspection) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการจัดระดับความเสี่ยงตามระดับเชื้อโรค รวมถึงหลายหน่วยงานได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ในการอนุญาต
         3. การพิจารณาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามการพิจารณาดังกล่าวควรครอบคลุมถึงการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมด้วย ในขณะเดียวกันกิจการที่ต้องมีการประเมิน EIA HIA EHIA อาจต้องจัดให้เป็นงานที่มีความเสี่ยงกลางหรือสูง
         4. การกำหนดหลักเกณฑ์ ควรเป็นแนวทางหรือข้อแนะนำกว้าง ๆ ให้หน่วยงานนำไปพิจารณาหรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากหน่วยงานอาจมีการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมกับบริบทของงานและกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว
         5. ในกรณีที่มีการอนุญาตไปก่อน และเพิกถอนทีหลัง อาจไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมากโดยเฉพาะกิจการที่ได้มีการลงทุนไปแล้วจำนวนมาก ดังนั้นควรพิจารณาแนวทางการตรวจสอบกิจการให้มีความเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

         ทั้งนี้ หน่วยงานจะนำหลักเกณฑ์และแนวทางตามผลการศึกษาที่เสนอในวันนี้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และจะส่งความคิดเห็นแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบเพื่อที่จะได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางที่มีความเหมาะสมต่อไป