สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ด้วยผลงานตอบโต้ภาวะวิกฤตของกรมควบคุมโรคที่คว้ารางวัลใน ปี 2021

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้นแบบแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เรื่อง “รางวัล UNPSA : นวัตกรรมสู้ภัยโควิด ตอบโต้ภาวะวิกฤตอย่างยั่งยืน” ในวันที่ 14 มกราคม 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้นแบบเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสภาวะวิกฤตจากผลงาน Intelligent and Sustainable Public Health Emergency System In Thailand ของกรมควบคุมโรค ที่ได้รับรางวัล UNPSA 2021 ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบท และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานในการพัฒนาการบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกสภาวการณ์ได้อย่างยั่งยืน โดยมี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดและบรรยายเส้นทางสู่รางวัล UNPSA นางเบญจมาภรณ์ ภิญโญพรพาณิชย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค บรรยายผลงาน Intelligent and Sustainable Public Health Emergency System In Thailand รวมทั้ง อาจารย์ ดร.ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นำเสนอการถอดบทเรียนต้นแบบแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศโดย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านสื่อเล็กทรอนิกส์ กว่า 700 คน

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้แสดงความยินดีกับกรมควบคุมโรค ที่ได้รับรางวัล UNPSA 2021 ซึ่งเป็นผลงานเดียวที่ได้รับรางวัลในสาขา Institutional preparedness and response in times of crisis และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับรางวัลในปี 2021 และกล่าวว่าสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้หน่วยงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณารางวัลที่สอดคล้องกับเกณฑ์รางวัล UNPSA ต่อยอดผลงานส่งสมัครรางวัล UNPSA ซึ่งเป็นรางวัลในระดับสากล เพื่อมุ่งสร้างนวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ กระตุ้นให้ข้าราชการสร้างนวัตกรรม พัฒนาความเป็นมืออาชีพในการให้บริการที่ครอบคลุมผู้รับบริการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง รวมทั้งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่ต้นแบบความสำเร็จแก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม SDGs 2030 ซึ่งที่ผ่านมาผลงานของภาครัฐไทยคว้ารางวัลได้เกือบทุกปี โดยกรมควบคุมโรคได้รับรางวัลถึง 2 ครั้ง และผลงานที่ได้รับรางวัลในปี 2560-2564 จากหลายประเทศทั่วโลกเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ที่มีการพัฒนาผลงานสอดคล้องมากที่สุด

         จากนั้น นางเบญจมาภรณ์ ภิญโญพรพาณิชย์ ได้เล่าถึงเป้าหมายการทำงานของกรมควบคุมโรค ที่มุ่งลดโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญของประชาชน โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีเป้าหมายในยกระดับผลงานให้มีคุณภาพที่ชัดเจน ซึ่งมีกลไกสำคัญ คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลงาน การกำหนด KPI เพื่อกระตุ้นให้พัฒนาผลงาน ผลักดันโดยเครือข่ายพัฒนาองค์กร ประกอบกับมีการทำงานที่ชัดเจนในการพัฒนา ทั้งการสื่อสารให้รู้จักรางวัลคุณภาพ กระตุ้นให้อยากส่งผลงาน แนะนำวิธีการเขียนผลงาน และสนับสนุนการเขียนผลงานส่งประกวด รวมถึงขยายผลขอรับรางวัลในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำงาน

         ด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ได้เล่าว่า การทำงานไปสู่ความสำเร็จมาจากการบ่มเพาะและสั่งสมเป็นระยะเวลานาน การได้รับรางวัลจึงทำให้ได้มองย้อนกลับไปยังการทำงานในจุดต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงต่อกันไปสู่ความสำเร็จ โดยมีการทำงานสองส่วนในช่วงสภาวะวิกฤตทั้งกลไกโครงสร้างและระบบงาน ตั้งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังโรคตอบโต้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำอย่างไรให้หยุดการระบาด ควบคู่กับการส่งต่อองค์ความรู้ระบาดวิทยาภาคสนาม และการเรียนรู้ที่สอนจากหน้างานจริง ประสบการณ์จริง และหลักสูตรอื่นเสริม ทำให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค โดยโครงสร้างระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน ที่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ และมีกลุ่มภารกิจหลายส่วนสนับสนุนที่ปรับตามสถานการณ์ พร้อมทั้งมีกลยุทธ์สำคัญในการทำงาน 6C คือ 1) Capture เผ้าระวัง ตรวจจับ 2) Case management รักษาผู้ป่วย ป้องกันการแพร่เชื้อ 3) Contact tracing ติดตามผู้สัมผัส 4) Communication สื่อสารความเสี่ยง 5) Community และparticipation & Law มาตรการทางกฎหมายและชุมชนมีส่วนร่วม และ 6) Coordinating and Joint Information Center ประสานงานและรวมศูนย์ข้อมูลทั้งในประเทศและนอกประเทศ

         ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินการ โดยมีระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เฝ้าระวังและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน แม้ในภาวะปกติ มีการสั่งการที่ชัดเจน มีจุดรวมแหล่งข้อมูลสื่อสารหลัก และอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำองค์ความรู้ทางระบาดวิทยามาสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย พร้อมการให้บริการด้วยใจ รวมทั้งคำนึงถึงการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญของบุคลากร การเตรียมพร้อมด้านทรัพยากร การทำงานแบบ Agile การถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินการเกิดความยั่งยืน พร้อมทิ้งท้ายว่า โควิดไม่ได้ทำให้การดำเนินงานควบคุมโรคในแผนงานต่าง ๆ หยุดชะงักแต่ทำให้องค์กรหรือประเทศขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้นด้วย

         จากนั้น อาจารย์ ดร.ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ ได้เล่าถึงการบริการภาครัฐและแนวโน้มรางวัล UNPSA ในอนาคต โดยการพัฒนาบริการเพื่อให้บรรลุ SDGs ต้องดำเนินการ 1) พัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน การประสานความร่วมมือกันของหน่วยงาน การออกกฏระเบียบที่เหมาะสม 2) ภาครัฐมีธรรมาภิบาล โปร่งใส มีอิสระ และ 3) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ แบบเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม นอกจากนี้แนวโน้มรางวัล UNPSA ส่งเสริมให้เกิดการนำดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นบริการภาครัฐแบบระบบเปิด เน้นให้บริการเฉพาะรายบุคคล ทั้งนี้ UN ได้มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในช่วงสถานการณ์โควิด 19 รวมถึงการใช้ประโยชน์จากบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการบริการสาธารณะในอนาคต อีกทั้งส่งเสริมให้มีการบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อเพศสภาพและเสริมอำนาจของผู้หญิง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริการสาธารณะจะดำเนินการโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030