ส่วนหนึ่งของความรักก็คือ ความไว้วางใจ... ถ้าหากขาดไป ก็ไร้ความเชื่อมั่น

แชร์หน้านี้

         ความไว้วางใจ คืออะไร
         ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Trust (ทรัสต์) เกิดจากความเชื่อมั่น หรือการรับรู้ในเชิงบวกเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลหรือสถาบัน จากการศึกษาของ OECD ในปี 2017 เรื่อง Trust and Public Policy ได้พยายามไขกลไกสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ พบว่า ความไว้วางใจอาจเป็น “สภาวะที่มนุษย์ยินยอมที่จะเข้าสู่สภาวะความเปราะบาง อันเนื่องมาจากความเชื่อว่า สามารถพึ่งพากับบางบุคคล หรือสถาบันบางประการได้”

         ทำไมความไว้วางใจถึงสำคัญ
         ความไว้วางใจเป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะต่างตอบแทน (Reciprocal) ตัวอย่างเช่น หากประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลย่อมนำมาซึ่งการสนับสนุนโครงการและนโยบายต่าง ๆ หรือหากภาคธุรกิจเชื่อมั่นในรัฐบาล ก็อาจนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนที่มากขึ้น และความพยายามที่น้อยลงในการหาช่องโหว่ทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลมีความเชื่อมั่นต่อประชาชน ก็ย่อมสะท้อนผ่านการออกแบบระบบการให้บริการสาธารณะที่ไม่มุ่งเน้นการสั่งการและควบคุม (Command & Control) หากแต่จะเน้นการออกแบบงานบริการที่มุ่งประสิทธิภาพและมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ เป็นต้น

         สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ความไว้วางใจลดน้อย ถอยลง หรืออาจไม่เหลือเลย
         รายงาน Edelman Trust Barometer 2022 ได้นำเสนอผลสำรวจความเชื่อมั่นใน 28 ประเทศ พบว่า ความไว้วางใจในรัฐบาลและสื่อลดลง ทำให้เกิดวงจรความไม่ไว้วางใจ (The Cycle of Distrust) ประกอบด้วย 4 ปัจจัยบ่อนทำลายสถาบันและทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นคง ได้แก่

           1. กระแสความไม่ไว้วางใจสื่อของรัฐบาล
           2. การพึ่งพาภาคธุรกิจมากจนเกินไป
           3. การแบ่งชนชั้น
           4. ภาวะผู้นำล้มเหลว

         เมื่อความไว้วางใจลดลงหรือหมดไปแล้ว จะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้อย่างไร
         รายงาน Edelman Trust Barometer 2022 ให้ข้อเสนอแนะว่า การฟื้นฟูวงจรความไม่ไว้วางใจ (Restoring the Cycle of Trust) เปรียบเสมือนเป็นกุญแจสู่ความมั่นคงทางสังคม ประกอบด้วย 4 แนวทาง ดังนี้
          1. การรักษาไว้ซึ่งบทบาทของภาคธุรกิจในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น
          2. การแสดงผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม
          3. ผู้นำควรเน้นการคิดระยะยาว
          4. การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้

         ความรักก็เหมือนสายลม ถึงมองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ เปรียบเสมือนกับความไว้วางใจที่เหมือนจะสัมผัสไม่ได้    แต่จริงๆ แล้ว... วัดได้
         Edelman Trust Barometer ได้ทำการจัดอันดับและรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นเป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีจะดำเนินการสำรวจความเชื่อมั่นผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ในกว่า 28 ประเทศทั่วโลก มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 33,000 คน แบ่งคะแนนความเชื่อมั่นเป็น 3 ระดับ คือ ไม่ไว้วางใจ (1-49 คะแนน) เฉย ๆ (50-59 คะแนน) และไว้วางใจ (60-100 คะแนน) และมีแนวคิดว่าความเชื่อมั่นต่อการบริหารและพัฒนาของแต่ละประเทศ จะเกิดขึ้นจากระดับความเชื่อมั่นใน 4 สถาบัน คือ 1. ภาคธุรกิจ (Business) 2. รัฐบาล (Government)  3. ภาคประชาสังคม (NGOs) และ 4. สื่อ (Media) โดยแต่ละสถาบันจะต้องแสดงถึงสมรรถนะในการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง (Competence) และมีจริยธรรมในการดำเนินงาน (Ethical)

         ภาพรวมระดับความเชื่อมั่นของทั่วโลกและประเทศไทยเป็นอย่างไร
         ตั้งแต่ปี 2013-2018 ระดับความเชื่อมั่นใน 4 สถาบันทั่วโลก อยู่ในระดับไม่ไว้วางใจ โดยในปี 2016 และ 2019 เป็นต้นมา อยู่ในระดับเฉย ๆ ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับไว้วางใจมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการสำรวจ

         ในปี 2022 ระดับความเชื่อมั่นของทั่วโลกและประเทศไทย จาก 4 สถาบันเป็นอย่างไร
          ปี 2022 Edelman Trust Barometer รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นภาพรวมทั่วโลกประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจสูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคประชาสังคม (NGOs) ภาครัฐ และองค์กรสื่อ ตามลำดับ ประชาชนเห็นว่าภาครัฐไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ภาวะโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำภาครัฐทั้งในมิติการประสานบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ภาครัฐและองค์กรสื่อเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม โดยมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน (False Information) และข่าวปลอม (Fake News) เป็นอาวุธ โดยประชาชนร้อยละ 61 เชื่อมั่นว่า ภาคธุรกิจทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกดดันให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
         สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2022 ได้ 66 คะแนนสูงขึ้น 5 คะแนนจากปี 2021 ซึ่งเท่ากับประเทศมาเลเซีย เป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ประชาชนมีดัชนีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจสูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคประชาสังคม องค์กรสื่อ และภาครัฐต่ำที่สุด ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด แต่ในปี 2022 พบว่า ภาครัฐมีคะแนนปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 9 คะแนน

         ทำไมดัชนีความเชื่อมั่นในภาครัฐในปี 2022 ถึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
         ที่ผ่านมาภาครัฐไทยได้ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของภาครัฐ (Trust in Government) อาทิ
         1. ยกระดับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับพัฒนาการให้บริการภาครัฐดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ (Fully Digital Service)
         2. ส่งเสริม สนับสนุน ให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น
         3. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ โดยส่วนราชการต่าง ๆ ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐเป็นรูปแบบดิจิทัลและเปิดให้ภาคส่วนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ได้ (Open Data)
         4. นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานและผลงานที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะ

         แม้ว่าภาพรวมระดับความเชื่อมั่นของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่จะดียิ่งกว่าถ้าสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
         สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพตามหลัก ธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้กำหนดภาพอนาคตของภาครัฐไทยมุ่งสู่การเป็น “ภาครัฐที่น่าเชื่อถือ” โดย
         1. ผลักดันให้ทุกส่วนราชการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในชุดข้อมูลเปิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
         2. เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบงานบริการ
         3. สื่อสารสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐที่แสดงให้ เห็นถึงผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทันต่อสถานการณ์

         ***************
         ข้อมูลอ้างอิงจาก https://bit.ly/3Jmigh8
         ดาวน์โหลด Infographic ได้ที่ https://www.facebook.com/100068769080442/posts/248313154137652/?d=n