การศึกษาดูงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม : การดำเนินกิจกรรมดูแลรักษาป่าและส่งเสริมอาชีพของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ณ ชุมชนบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ. ลำปาง

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ประธาน อ.ก.พ.ร. ภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการ ประกอบด้วย นางสาวธีรดา ศุภะพงษ์ และ นายสุนิตย์ เชรษฐา และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ณ ชุมชนบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป

         ผลจากการศึกษาดูงาน สรุปได้ดังนี้

         1. ในอดีตพื้นที่ป่ารอบโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี จังหวัดลำปาง ซึ่งได้แก่ บ้านสาแพะ มักเกิดปัญหาไฟป่า ขาดน้ำ ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและการอุปโภคบริโภค จึงได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการบริหารจัดการน้ำมาแก้ไขปัญหาในการฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำควบคู่กับการดูแลไฟป่า รวมทั้งจดทะเบียนป่าชุมชน ในพื้นที่ป่ารอบโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดลำปาง

         2. ผลจากการดำเนินการทำให้บ้านสาแพะ ก้าวสู่วิถีเกษตรประณีตที่ประสบความสำเร็จกับการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้หลัก “บริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำ สร้างงานชุมชนข้างเคียง” และ “พึ่งตัวเองให้มาก เสียสละแรงงานและที่ดินร่วมกัน” โดยที่ชุมชนร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำส่งต่อน้ำไปสู่สระพวงเชิงเขา กระจายน้ำในพื้นที่ราบผ่านระบบแก้มลิง

         3. หัวใจสำคัญของความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของคนในชุมชนในการลงแรงและการเสียสละที่ดินที่เพื่อสร้างสะพวง ในปัจจุบันนี้ บ้านสาแพะจึงมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้สอยและทำการเกษตร นอกจากนี้ คนในชุมชนต่าง ๆ มีทางเลือกในการทำงาน สร้างรายได้ จากการทำเกษตรประณีตเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ การปลูกผักสวนครัว และไม้ผลยืนต้น รวมทั้งการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ ทะเลหมอก ดอยฟ้างาม

         นอกจากนี้ คณะได้ร่วมติดตามการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Low - cost sensor) ณ เทศบาลเมืองเขลางค์นคร และเทศบาลนครลำปาง และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามผลการดำเนินการและนำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป