การประชุมเรื่อง การตอบแทนคืนให้แก่ระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES )

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ได้มีการประชุมเรื่อง การตอบแทนคืนให้แก่ระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES ) และลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป

         ประธาน อ.ก.พ.ร. ภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการ ประกอบด้วย นางสาวธีรดา ศุภะพงษ์ และ นายสุนิตย์ เชรษฐา และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ได้แก่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเหมืองแม่เมาะ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ส่วนคลังปิโตรเลียมลำปาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีม DEFIRE รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ผู้ใหญ่บ้านไร่พัฒนา

         สรุปการประชุม ได้ดังนี้

         1. จังหวัดลำปางมีเครือข่ายป่าชุมชนที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการกับภาคเอกชน ซึ่งพื้นที่ดำเนินการที่สำคัญ คือ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตร

         2. "แผนที่ทำมือช่วยจัดการป่า" เป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านไร่พัฒนาร่วมกันทำขึ้น ซึ่งแผนที่นี้ช่วยให้ชาวบ้านรู้จักป่าของตนเองได้ดียิ่งขึ้น อันนำไปสู่การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าในจุดที่สำคัญและได้ผลดีที่สุดในการใช้แผนที่นี้ชี้จุด หากเป็นพื้นที่ป่าที่เป็นรอยต่อป่าชุมชนอื่นจะสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร และใช้วัสดุธรรมชาติในป่า ภายใต้แนวคิด "ป่าเปียก"

         3. ปัจจุบันมีฐานข้อมูลเรื่องป่าชุมชน แสดงบนเว็บไซด์ thaicfnet.org แต่ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น เพื่อจัดทำฐานข้อมูลป่าชุมชนที่ครบถ้วน จึงควรมีการดำเนินการร่วมกับ GISTDA เพื่อเติมเต็มฐานข้อมูลให้ครบถ้วนยิ่งขึ้นต่อไป

         4. ภาคเอกชนในจังหวัดลำปาง พร้อมร่วมดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้

             1) ส่วนคลังปิโตรเลียมลำปาง พร้อมร่วมดำเนินการเรื่อง PES โดยการขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือจากชุมชนและเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร
             2) กฟผ. มีการป้องกันปัญหาในส่วนพื้นที่ของตนเอง และมีการสนับสนุนการดำเนินงานแก่ชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนป่าชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เช่น การรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวล การปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพเหมืองโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และการสนับสนุนทรัพยากรให้แก่ชุมชนโดยรอบ เช่น รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ รวมทั้งพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ แก่คนในชุมชน
             3) SCG มีความต้องการปลูกป่า แต่ยังหาพื้นที่ดำเนินการไม่ได้ โดย SCG ต้องการรับพื้นที่มาดำเนินการปลูกป่าในระยะเวลา 10 ปีและส่งมอบกลับให้แก่กรมป่าไม้

          5. ปัญหาและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องดำเนินการขับเคลื่อน

              1) การรับซื้อเศษวัสดุ เศษวัสดุเชื้อเพลิง biomass ที่มาจากป่า มีปัญหาที่สำคัญ คือ เรื่องการขนย้าย และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง (logistic) ซึ่งต้องดำเนินการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับการขนย้าย และการดำเนินการเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งต่อไป
              2) ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้ามประเทศได้ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในภาคการเกษตร ภาคเอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนภาคป่าไม้ ขึ้นอยู่งบประมาณและความต้องการของภาคเอกชน
              3) ป่าชุมชนที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ สามารถนำมาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ยกเว้นป่าในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐที่ยังไม่เปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ แต่อย่างไรก็ดี ได้มีการทดลองนำที่ดินที่ขึ้นทะเบียนตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มาใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (อยู่ในขั้นตอนการจัดทำ MOU ร่วมกัน)
              4) การจ่ายหรือการตอบแทน (Payment) ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น แต่อาจจะเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ
              5) การบริหารจัดการไฟเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพื้นที่อาจอนุญาตให้เผาได้ แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม มีแผนการเผาที่ชัดเจน
              6) เงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังติดข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์บางประการ ประกอบกับชาวบ้านยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการนำเงินมาใช้เพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชนในระยะยาว
              7) ที่ประชุมมีข้อสังเกตเรื่องชื่อ “การจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ” ว่าควรปรับชื่อให้เกิดการจูงใจมากขึ้น เช่น “การแทนคุณระบบนิเวศ” หรือ “การตอบแทนคืนให้แก่ระบบนิเวศ” เป็นต้น

         6. แนวทางดำเนินการในระยะต่อไป คือ ภาคเอกชนต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และส่วนคลังปิโตรเลียมลำปาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ควรดำเนินการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิต และ ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ในรูปแบบการดำเนินการภายใต้โครงการ CSR ต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมุ่งดำเนินการในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่การเกษตร โดยมีแพลตฟอร์มที่พร้อมสนับสนุนในเรื่องนี้

         สำหรับในช่วงบ่าย คณะได้เข้ารับฟังการบรรยายและศึกษาดูงานการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดปัญหา PM 2.5 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และเข้าเยี่ยมชมโรงงาน Biomass Co-firing โดยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

         1. การมีส่วนร่วมของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกตัวแทนหมู่บ้านเข้ามาร่วมตรวจวัดและรายงานผลการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม มีการตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระดับตำบล และระดับอำเภอ และโครงการการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมจากที่ทิ้งดิน ต.บ้านดง

         2. โครงการลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ได้แก่ การลงพื้นที่สื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ จัดทำ Application “Lampang Hotspot" จัดทำแผนป้องกันและระงับไฟป่าบริเวณพื้นที่กฟผ.พร้อมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน โครงการสอนการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก พร้อมรับซื้อปุ๋ยจากชุมชน โครงการสนับสนุนจัดตั้งป่าชุมชน โครงการสร้างฝายชะลอน้ำเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการอนุรักษ์ป่าห้วยคิงตอนบน และกองทุนฟื้นฟูสภาพเหมือง

         3. โครงการ Mae Moh Smart City Project Carbon Neutral City Model : เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายของกฟผ. เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่แม่เมาะจังหวัดลำปางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวทางพัฒนา 3 Smart ได้แก่ Smart Energy Smart Economy และ Smart Environment เพื่อส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่เมาะให้เป็นพื้นที่สำคัญด้านพลังงานทดแทน

         4. โรงงาน Biomass Co-firing มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาอัดแท่งเพื่อเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน โดยมีเป้าหมายเพื่อ ลดปัญหาหมอกควันจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของชุมชน และลดปริมาณการใช้ถ่านหินลิกไนต์

         
NEXT STEP

         1. เพิ่มเติมฐานข้อมูลป่าชุมชน บนเว็บไซด์ thaicfnet.org ให้มีความครบถ้วน โดยดำเนินการร่วมกับ GISTDA เพื่อเติมเต็มฐานข้อมูลให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

         2. วิเคราะห์พื้นที่ป่าชุมชนว่าบริเวณใดที่ยังไม่มีการดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง และดำเนินการจับคู่ (Matching) ป่าชุมชนในบริเวณต่าง ๆ เข้ากับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการผลักดันเรื่องป่าชุมชนร่วมกันต่อไป

         3. มอบหมายให้ผู้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มอนุรักษ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และแอปพลิเคชั่น DEFIRE (บริษัท DEFIRE) จัดทำร่างข้อเสนอเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนระบบ PES และติดตามการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่การเกษตร จังหวัดลำปาง และเหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจ การดำเนินงานของ EGAT, SCG และ ปตท.

         4. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกับกรมป่าไม้ เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเงินสนับสนุนป่าชุมชนตามโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ว่ามีขั้นตอนการนำเงินจากการบริจาคของภาคเอกชน ส่งไปยังชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนอย่างไร และมีระยะเวลาเท่าใด