การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลสำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลสำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จำนวน 25 หน่วยงาน รวม 80 คน

         ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สพร. ได้กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อรองรับต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งจะลดข้อจำกัดทางกฎหมายในการปฏิบัติราชการ และหน่วยงานสามารถดำเนินการตามแนวปฏิบัติดังกล่าวได้อย่างมีมาตรฐาน

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่มาจากการสำรวจกฎหมายและกฎระเบียบซึ่งมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการในรูปแบบ e-Service จึงทำให้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐในการบริหารงานและการให้บริการให้เป็นดิจิทัลได้เต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (Fully digital)

         นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์และสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลางที่หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อสื่อสาร ปฏิบัติราชการ และให้บริการประชาชนได้อย่างถูกต้องโดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

         ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ สพร. ได้นำเสนอแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัล ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดทำกระบวนการและการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ครอบคลุม 8 กระบวนงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) การสืบค้นข้อมูลเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้ (2) การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการขอรับบริการของภาครัฐ (3) การจัดทำแบบคำขอ และยื่นคำขอเพื่อยื่นขออนุญาตในรูปแบบดิจิทัล (4) การตรวจสอบและพิจารณาคำขอจากช่องทางต่าง ๆ (5) การอนุมัติโดยผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์ของการขออนุญาตนั้น ๆ (6) การชำระค่าธรรมเนียม (7) การออกใบอนุญาตและเอกสารอื่น (8) การจัดส่งใบอนุญาตหรือเอกสารอื่น เช่น เอกสารแจ้งผลการอนุมัติ ทะเบียน ใบรับแจ้ง เป็นต้น

         ทั้งนี้ ผู้แทนหน่วยงานได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อแนวปฏิบัติทั้ง 8 กระบวนการที่เป็นขั้นตอนหลักในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานและการปฏิบัติเชิงเทคนิค การสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนผู้รับบริการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายที่รองรับ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับปรุงแนวปฏิบัติฯ สำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ต่อไป