การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โครงการศึกษากฎหมายที่ส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมกันจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียช่องทาง Facebook Live และ YouTube Channel เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบแนวคิด แนวทางและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและใช้กฎหมายส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐและการให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของประเทศ และร่างแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป็นรัฐบาลดิจิทัลตามที่ TDRI มีการศึกษาไว้ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ผ่านระบบ Zoom และชมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย กว่า 500 คน

         ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

         1. ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
         2. ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
         3. นายจินตพันธ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
         4. นายสาโรจน์ อธิวิทวัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสซิเบิล จำกัด
         5. ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

         ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

         การขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย

         - การเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลมีกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Digital Transformation) ซึ่งที่ผ่านมาพบประเด็นที่ติดขัดต่อการดำเนินการ เช่น ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย และยังมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เช่น องค์ความรู้ทางด้านดิจิทัลที่ปัจจุบันมีบทบาทต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานบริการทางดิจิทัล อาทิ Digital ID, Open Data, One Time Data Entry, Cyber Security, Digital Signature, Digital Document ฯลฯ ที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อสามารถให้บริการประชาชนในแบบดิจิทัลได้
         - ข้อมูลที่จะนำเสนอในที่ประชุมนี้จะช่วยให้หน่วยงานได้รับทราบว่ากฎหมายจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน และส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลผู้เข้าร่วมประชุมสามารถพิจารณาสถานะการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยว่าขณะนี้อยู่ในระดับใด มีกฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล กฎหมายใดเป็นอุปสรรค และพิจารณาเปรียบกับต่างประเทศ
         - ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่สนับสนุนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ตลอดจน ร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ที่ผ่านสภาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของไทยต่อไป
         - จากการค้นพบปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำโครงการ E Document สำรวจพบว่ามีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทางดิจิทัล จำนวน 84 ฉบับ ปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้วจำนวน 62 ฉบับ และส่วนที่นอกเหนือจากการแก้ไขในระดับกฎกระทรวงได้ถูกนำไปแก้ไขในขั้นการร่างพ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงถือได้ว่าเป็นการปลดล็อกให้สามารถดำเนินการให้บริการทางดิจิทัลได้
         - เป้าหมายการเป็นรัฐบาลดิจิทัลแบบ fully digital ที่สามารถใช้กระบวนการทางดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ (End to End Process) ส่งผลให้เกิด paper less government ที่จะทำให้เกิดการประหยัดงบประมาณ และเกิด Automate Processing นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในแบบ end to end process ได้

         ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อกรอบแนวคิด ผลการศึกษาและร่างแผนที่นำทางเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป็นรัฐบาลดิจิทัล

         - Digital Mindset การแสดงเจตจำนงของผู้นำองค์กรและความตั้งใจขับเคลื่อน Digital Transformation ขององค์กรอย่างเต็มที่ ส่งผลต่อความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่นำระบบราชการ 4.0 มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปสู่องค์กร 4.0 ที่ประสบความสำเร็จอยู่ร้อยละ 10 สะท้อนให้เห็นว่าหากองค์กรที่มีการจัดทำ Roadmap ที่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้น มีการแบ่งเป็นระยะเวลาในการพัฒนา เช่น ระยะแรก เป็นการทำ Digitalization หรือพิจารณาปรับกระบวนการภายในองค์กร ระยะที่สอง เป็นการ Integrate ข้อมูลในองค์กรเข้าร่วมกัน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมงานบริการใหม่ และระยะที่สาม การขับเคลื่อนไปสู่การ Transform ที่มีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น คน การทำแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง และในท้ายที่สุดคือการทำให้เป็นหนึ่งเดียวกับองค์กรอื่นๆ
         - การออกแบบการพัฒนาทางดิจิทัลอาจจำแนกตามประเภทหน่วยงาน โดยพิจารณาเลือกงานบริการที่มีระบบที่ง่ายต่อผู้ใช้บริการ ไม่ซับซ้อน มาทำการพัฒนาและให้เกิดการลงทุนจากส่วนกลาง เพื่อให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นสามารถนำระบบที่พัฒนาไปใช้ได้ในรูปแบบเดียวกัน ลดปัญหาการแยกกันพัฒนาของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการปรับร่างแผนที่นำทางที่ได้นำเสนอให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบหน่วยงาน เช่น หน่วยงานขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หน่วยงานระดับท้องถิ่น หรือหน่วยงานกลาง และควรกำหนด milestone ให้แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปใช้ เช่น จะกำหนดแนวทางการดำเนินการอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนบริการดิจิทัลในหน่วยงานขนาดย่อยหรือท้องถิ่น ซึ่งง่ายต่อการผลักดัน และประชาชนได้รับประโยชน์ในวงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว
         - การพิจารณาผู้มีบทบาท Agent Change ทั้งในภาพรวม และภายในองค์กร เช่น หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงการทำงานร่วมกันภายในองค์กร เช่น กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร คณะทำงานขับเคลื่อนภายในองค์กร ที่สามารถขับเคลื่อนและติดตามการเปลี่ยนแปลงได้โดยตรง ตลอดจนการกำหนดตัวชี้วัดว่าปัจจัยใดที่จะส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดและวัดผลได้จริง
         - ข้อเสนอสร้างการเรียนรู้ เช่น ทำคลิปสั้นเพื่อสร้างความเข้าใจนำเครื่องมือแต่ละประเภทมาใช้ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นดิจิทัล จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการผลักดันสู่การเป็นดิจิทัล โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย
         - การจะไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ หรือมีระบบให้บริการแบบดิจิทัลทั้งกระบวนการควรพิจารณาอย่างรอบด้านว่าประเด็นใดว่าดิจิทัลควรเป็น Digital First หรือ Optional เช่น การคงไว้ซึ่งระบบเดิม การนำดิจิทัลเพื่อพัฒนางานบริการ และการให้มีเจ้าหน้าที่คอยบริการในกรณีที่เกิดมีข้อติดขัดทางดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการที่มีหลากหลายกลุ่ม
         - ข้อเสนอแบบคิดนอกกรอบ “ดิจิทัลคือทางรอด มิใช่ทางเลือก” Digital Government เป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกับทุกภาคส่วน ในการพัฒนาทางดิจิทัลภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง แต่สามารถเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถและพร้อมร่วมทำงานกับภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และพิจารณาเลือกด้านที่จะพัฒนาตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน นอกจากนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งผลดีต่อระบบโดยภาพรวมของประเทศไทยในระยะยาว
         - ประเด็นด้านกฎหมายเป็นหนึ่งใน eco system ของการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีรายละเอียดในการดำเนินการภายใต้ประเด็นทางกฎหมายอยู่หลายประการ เช่น การมีความรู้ทางด้านกฎหมาย การนำกฎหมายไปปรับใช้ การให้ความสำคัญกับประเด็นทางกฎหมาย ดังที่รัฐบาลได้ร่าง พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่มีผลต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เช่น การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น

         การประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้ทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อผลการศึกษา ซึ่ง TDRI จะนำไปปรับปรุงข้อเสนอและร่างแผนที่นำทาง (Roadmap) ให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะนำผลการศึกษาที่สมบูรณ์มาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานบริการทางดิจิทัลของภาครัฐ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการให้บริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ประชาชนมีความพึงพอใจต่องานบริการภาครัฐอย่างแท้จริง