การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 5/2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 5/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้

         1. การพัฒนาระบบการให้บริการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Agenda ที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยมีกรมที่ดินเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และขับเคลื่อนร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมธนารักษ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สามารถให้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ ในการนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมที่ดิน สถ. กรมธนารักษ์ และ กทม. มาร่วมประชุมหารือเพื่อนำเสนอผลการดำเนินการพัฒนาระบบการรับชำระภาษีที่ดินฯ และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับการพัฒนาการให้บริการเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้

             1.1 ข้อมูลเรื่องการชำระภาษีที่ดินฯ เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก มีความซับซ้อนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องใช้การบูรณาการจากหลายหน่วยงาน จึงควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
             1.2 ภาครัฐอาจพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานสำหรับผู้รับบริการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสะดวกในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปัจจุบันของภาครัฐ เช่น การพัฒนาข้อมูลอาคารชุด ที่ผู้รับเหมาจะส่งแบบแปลนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐานภูมิสารสนเทศ (Geo- Spatial Standard) ด้วย จะช่วยให้ภาครัฐได้รับความสะดวกจากชุดข้อมูลดังกล่าวในการออกแบบระบบรองรับการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารชุด เป็นต้น
             1.3 กรมที่ดินควรเชิญภาคเอกชนหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาระบบการรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากองค์ประกอบในปัจจุบันมีเพียงหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองของผู้รับบริการ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาครอบคลุมทั้งการจัดเก็บภาษีและการชำระภาษี ตาม Roadmap ที่กำหนดไว้จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

         2. แนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยอาศัยยุทธศาสตร์/แผน/ดัชนีระดับสากล ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (2) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานและการบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล (3) ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ด้วยดัชนีการให้บริการออนไลน์ (Online Service Index) ซึ่งสามารถจำแนกเป็นข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ ได้ 5 เรื่องสำคัญดังนี้ (1) การผลักดันให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพิ่มเติมและให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม (2) การส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ e-Service (3) การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... (4) การสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) สำหรับการให้บริการภาครัฐ (5) การพัฒนาต้นแบบหน่วยงานในการนำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานทั่วทั้งองค์กร (Digital Transformation) ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้

             2.1 ควรวัดความสำเร็จหรือการออกแบบตัวชี้วัดในปี 2566 ให้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ (outcome) มากกว่าผลผลิต (output) เพื่อให้เกิดการวัดที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา
             2.2 ควรจัดกลุ่มข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ ทั้ง 5 เรื่อง เพื่อมุ่งเน้นการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... รวมถึงการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการปฏิบัติงานและการบริการประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าหน่วยงานยังคงดำเนินการในรูปแบบกระดาษแม้ว่าจะมีกฎหมายและกฎระเบียบรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วก็ตาม ตลอดจนการสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศนคติของบุคลากรให้มีความเชื่อมั่นต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน

         3. รับทราบผลการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ของรัฐสภา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 เรื่องได้แก่ (1) การเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอัยการ นำพระราชบัญญัติไปบังคับใช้ทั้งหมดหรือบางส่วน (2) รัฐบาลควรจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้ทันที (3) หน่วยงานของรัฐควรกำหนดช่องทาง (Portal) หลัก หรือช่องทางกลางสำหรับให้ประชาชนติดต่อหรือยื่นคำขอแบบ One Stop Service (4) ควรเร่งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและสร้าง Digital Literacy (5) หน่วยงานของรัฐต้องพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านยกระดับทักษะ (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) (6) หน่วยงานของรัฐควรมีฐานข้อมูลด้านต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก รวมทั้งเผยแพร่ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (7) ควรเพิ่มทรัพยากรและศักยภาพการทำงานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในด้านการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 17 ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในฐานะหน่วยงานหลักในการพิจารณาข้อสังเกตฯ จะได้สรุปผลการพิจารณาส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

         4. การพัฒนาการให้บริการประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Line@ ซึ่งจากการตรวจติดตามการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มีข้อค้นพบที่สำคัญว่าหน่วยงานมีการนำสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Line มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชน เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนผู้รับบริการได้สะดวกและง่ายต่อการใช้งานของผู้รับบริการ อย่างไรก็ตามการให้บริการของหน่วยงานผ่านแอปพลิเคชัน Line@ ในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดสำหรับ หน่วยงานผู้ให้บริการที่ไม่สามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบทั้งหมด เช่น ความปลอดภัยและวิธีการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหาก มีระบบสนับสนุนด้านมาตรฐานและความปลอดภัยในการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูล จะทำให้ทั้งหน่วยงานและประชาชน มีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการในรูปแบบ Line@ และจะมีการใช้ในงานบริการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าภาครัฐควรจัดตั้งตัวแทนเพื่อเข้าไปคุยกับทางบริษัทไลน์ เพื่อให้เกิดมาตรฐาน ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการที่ภาครัฐให้บริการผ่านทางไลน์ รวมถึงภาครัฐควรออกแนวปฏิบัติหรือแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมแก่หน่วยงานภาครัฐที่จะใช้ Line@ ในการให้บริการด้วย เพื่อให้ภาพรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสม ลดความซับซ้อนในการใช้งานทางฝั่งประชาชน