เลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ การขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยงานราชการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “อีกก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยระบบ e-Document”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ สำนักงาน ป.ย.ป.ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “อีกก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยระบบ e-Document” โดยในงานดังกล่าวได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ การขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยงานราชการ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยมีนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. เข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ

         โดยในพิธีเปิด ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนี้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนการใช้ e-Document ของหน่วยงานราชการ และแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานศาล กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ยอมรับและมีความพร้อมในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการพิจารณาจาก e-Document ที่มีมาตรฐาน ตลอดจนการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนการใช้ e-Document อย่างเต็มรูปแบบในการปฏิบัติราชการ

         นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) กล่าวปาฐกถาพิเศษผ่านวิดิทัศน์ โดยสรุปคือ สิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล คือ การบูรณาการข้อมูลสารสนเทศที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ อาทิ ระบบสารบรรณ ระบบพัสดุ ระบบการบริหารการเงินการคลัง โดย e-Document ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลที่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงาน ปยป. ขับเคลื่อนการดำเนินการ ติดตาม ดูแล การเป็นรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ด้วยการสนับสนุนหน่วยงานที่มีความพร้อม เป็นหน่วยงานนำร่องให้เกิดการขับเคลื่อนเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์ ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สพร. สพธอ. และ NECTEC ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนในการใช้ e-Document คือ 1. การปรับ Mind Set ไปสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลของทุกหน่วยงาน 2. การขับเคลื่อนระบบสนับสนุนในการใช้ e-Document ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้

         นอกจากนี้ ประโยชน์ของการใช้ e-Document ยังมีมากมายหลายประเด็น ได้แก่ 1. การลดการใช้กระดาษ และงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารกระดาษ 2. ลดปัญหาความล่าช้า และการแก้ไขเอกสารโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ 3. สามารถตรวจสอบ และสืบค้นเอกสารได้ง่ายในอนาคต 4. รักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้เป็นอย่างดี 5. ลดปัญหาเอกสารหาย หรือข้อมูลขาดหายในบางส่วน 6. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานได้ทุกที่ ทุกเวลา (Work from Anywere)

         เมื่อระบบ e-Document มีการใช้อย่างทั่วถึงแล้ว การเป็นรัฐบาลดิจิทัลก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดในการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

         หลังจากนั้นเป็นการลงนามบันทึกความร่วมมือ การขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยราชการระหว่าง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงาน ป.ย.ป. ETDA NECTEC และ DGA ซึ่งเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวในพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ.ร. สพร. และ สพธอ. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา e-Document ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 โดยในระยะแรกมุ่งเน้นการพัฒนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ อนุมัติ อนุญาต แก่ประชาชน โดยได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนา e-Document ไปแล้วว่า 150 เอกสาร ใน 34 หน่วยงาน ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือ การขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยราชการในวันนี้ จะเป็นก้าวต่อไปในการพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ e-Documnet อันจะนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมที่จะขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

         ในช่วงท้ายเป็นการแถลงข่าวการขับเคลื่อนการใช้ระบบ e-Document แก่หน่วยราชการ โดยมีหน่วยงานเพิ่มเติมที่ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

         ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายประจักษ์ บุญยัง ได้กล่าวให้ความมั่นใจว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความพร้อมและยินดีที่จะตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ตามบทบาทภารกิจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในรูปแบบดิจิทัล 100% สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อม ซึ่ง สตง. ยืนยันว่า บุคลากรทุกคนของ สตง. มีความพร้อมและให้ความเชื่อมั่นว่า สตง. จะช่วยส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จต่อไป

         ที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง (นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย) ชี้แจงว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการภายใต้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ มาแล้วกว่า 7 ปี ตลอดจนมีการใช้ระบบ eGP และ GFMIS เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านงบประมาณและบัญชีของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น กรมบัญชีกลางจึงพร้อมที่จะรองรับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบ e-Document และพร้อมที่จะพัฒนาการดำเนินการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อไป

         โดยในการแถลงข่าว เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในส่วนของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

         สำหรับช่วงบ่ายจะเป็นการ Workshop แนะนำและทดลองใช้ระบบ e-Document และการเสวนาในหัวข้อ “อีกก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยระบบ e-Document” โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมได้ทาง https://fb.watch/fS5pJgAsGG/