การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ครั้งที่ 4/2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) เป็นประธาน

         สรุปการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

         1. รับทราบการดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 และเห็นควรให้สื่อสารสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งควรศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศมาสนับสนุนหลักการของการปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น ทดลองประกอบกิจการ การอนุญาตโดยปริยาย

         2. รับทราบรายงานผลการตรวจติดตามการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ณ จุดบริการ ในหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นใน 16 จังหวัด รวม 105 แห่ง และเห็นควรขยายผลหน่วยงานที่มีการปฏิบัติที่ดีไปยังหน่วยงานสาขาหรือส่วนภูมิภาคอื่นเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกัน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จด้วย สำหรับข้อค้นพบที่สำคัญจากการตรวจติดตามเรื่องการใช้แอปพลิเคชันไลน์มาให้บริการ หน่วยงานควรให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของข้อมูล เรื่องการเรียกเอกสาร ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูล และสำนักงาน ก.พ.ร. ควรหาวิธีการทำงานสำหรับการตรวจสอบจากเอกสารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เป็นต้น

         3. เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยทดลองนำร่องหรือศึกษาเพิ่มเติมจากหลักการของการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และดำเนินการเพิ่มเติมในปี 2566 โดยการขยายผลไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ การเผยแพร่ผลสำเร็จ และการขับเคลื่อนการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนของธนาคารโลก Business Enabling Environment (BEE) และเห็นควรปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้เข้าใจง่าย ควรสื่อสารสร้างความเข้าใจในกลุ่มชาวต่างชาติ รวมทั้งควรเพิ่มการวัดด้านประสิทธิภาพ (efficiency) นอกเหนือจากวัดความพึงพอใจ เช่น อัตรากำลัง ต้นทุนให้บริการ เป็นต้น