รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

แชร์หน้านี้


        เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยมี นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมชี้แจงเพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting และ Facebook Fanpage : กพร OPDC)

         ในช่วงแรกจะเป็นการมอบนโยบายและทิศทางสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยการถ่ายทอดวีดิทัศน์จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่ารัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ และการทำงานของภาครัฐพร้อมทั้งพัฒนา ระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งในครั้งนี้ด้วยความร่วมมือจาก 4 หน่วยงาน ได้มีการออกกฏหมายสำคัญ เพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎหมายพัฒนาการให้บริการ และการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิท่านอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การให้บริการประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทุกหน่วยงานจึงต้องเตรียมความพร้อมในสองส่วนคือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน และระบบการปฎิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับ ความพร้อมของหน่วยงานและการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงขอให้ทุกหน่วยงานของรัฐ ศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมาย และกำหนดแผนการพัฒนาการให้บริการตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเทคนิคกระบวนงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานและกับประชาชน

         รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปว่า การชี้แจงในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานของรัฐ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมการประชุมกว่า 8,000 หน่วยงาน จะทราบถึงแนวปฏิบัติและวิธีการที่สามารถปฏิบัติราชการและให้บริการประชาชนได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยที่พร้อมในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อันจะเพิ่มความสะดวกทั้งแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และขอขอบคุณหน่วยงานหลักทั้ง 4 หน่วยงาน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น ซึ่งในลำดับต่อไป จะเป็นการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการจากระบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ และขอให้เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่จะต้องทำความเข้าใจและนำแนวปฏิบัติที่ได้จากการประชุม ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนต่อไป

         ภายหลังจากการกล่าวเปิดการประชุม หน่วยงานหลักทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย

          - เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริการภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และโปร่งใส โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยทุกหน่วยงานต้องมีการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติราชการและการให้บริการให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่กำหนด โดยสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยให้สามารถดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างเต็มที่
          - นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวชี้แจงว่า พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เกิดขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ อาทิ การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นประชาชนสะดวกให้เกิดความสะดวกเป็นหลัก
          - ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยสามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติที่กำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยการออกแนวปฏิบัติที่หน่วยงานต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น แนวทางการยื่นขออนุญาตและตอบกลับทางอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางการแสดงและตรวจสอบใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติราชการและการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ คือหน่วยงานภาครัฐต้อง “ปรับตัว ปรับใจ ปรับ Mindset” โดยได้ยกตัวอย่าง อปท. ที่สามารถพัฒนาและดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น ระบบ Pangmu E-Smart Service ขององค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้วย Smart Technology เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและติดตามควบคุมเฝ้าระวังโรคโควิด 19 เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา
          - ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติราชการและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน อาทิ มาตรฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ด้านการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานด้านอื่น ๆ

         ภายหลังจากการชี้แจงของ 4 หน่วยงาน ผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 8,500 คน ได้มีคำถามที่เกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันตอบคำถามในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น

         และในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวโดยสรุปว่า หน่วยงานภาครัฐยังมีเวลาในการปรับตัวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากบางมาตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที และเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานมีความพร้อมตามศักยภาพของตนเองโดยเฉพาะด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ดำเนินการ และหลังจากนี้จะมีการติดตามและรายงานผลการดำเนินการมายังคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติฯ ต่อไป

         ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมบันทึกการชี้แจงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ทาง Facebook Fanpage : กพร OPDC (https://www.facebook.com/OPDCThailand) โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารการประชุม และติดตามการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. ในหัวข้อ “ผลการพัฒนาระบบราชการ” ผ่านลิงก์ https://www.opdc.go.th/content/NzgzMA และหากหน่วยงานมีคำถามเพิ่มเติม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ dx@opdc.go.th และ Line : @goodgov4u