พลเมืองเคลื่อนรัฐ OpenGov for Citizen ครั้งที่ 2 : จังหวัดนครสวรรค์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ จัดกิจกรรม "พลเมืองเคลื่อนรัฐ OpenGov for Citizen ครั้งที่ 2 : จังหวัดนครสวรรค์" ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจากทุกอำเภอในจังหวัดนครสวรค์ และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ กว่า 70 คน ในการระดมความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดให้ตอบโจทย์ประชาชน

         เปิดกิจกรรมโดยคลิปของนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้กล่าวถึงประเด็นที่อยากให้ชาวนครสวรรค์ร่วมกันระดมไอเดีย 7 เรื่อง ได้แก่ 1) ค่าครองชีพ/อาชีพ 2) สวัสดิการด้านสุขภาพ และการเข้าถึงและความครอบคลุมของสภานพยาบาล 3) การบริหารจัดการขยะ 4) คุณภาพของเยาวชน 5) คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 6) มลพิษทางอากาศ และ 7) มลพิษทางน้ำ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไข พร้อมกับเน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันคิด และนำเสนอไอเดียได้อย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของจังหวัดนครสวรรค์ร่วมกัน

         นอกจากนี้ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของกิจกรรมพลเมืองเคลื่อนรัฐ OpenGov for Citizen และเน้นย้ำว่าไอเดียของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ จะถูกนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างแน่นอน

         ในช่วงนำเสนอ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย นางพรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และนายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมให้ความเห็น คำแนะนำ เพื่อให้ผลงานสามารถนำไปต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้

         7 เรื่องที่พร้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

            1. การให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อการทำ MOUs กับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการแปรรูปพืชผลเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และวางจำหน่ายภายในจังหวัดนครสวรรค์ ต่างจังหวัด และขยายไปถึงต่างประเทศ

            2. การมีรถโมบายเคลื่อนที่บริการผู้สูงอายุถึงชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการรักษาทันตกรรม นอกจากนี้ ภายในรถโมบายเคลื่อนที่ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ในการให้ความรู้กับประชาชนหลังการรับบริการ รวมถึงการมีระบบรักษาทางไกล และมีการแจ้งผลการรักษาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

            3. การบริหารจัดการขยะ เริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคน ทุกครัวเรือน ให้รู้ถึงโทษของการทิ้งขยะไม่เป็นที่ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของขยะ และการจัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยการมีถังขยะตามจุดให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง

            4. การพัฒนาคุณภาพของเยาวชนด้วยการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มจากการทำ Workshop ให้ความรู้เรื่องยาเสพติด เพศศึกษา การใช้เทคโนโลยี และนำธรรมะมาขัดเกลา รวมถึงกิจกรรมนันทนาการ เช่น การเต้น เล่นกีฬากระชับมิตร เพื่อสานสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และมีคลินิคให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สร้างสวนสุขภาพและออกกำลังกาย และให้ผู้นำชุมชนลงพื้นที่ให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือคนในชุมชน

            5. การเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ด้านให้ความรู้ ความเข้าใจ สำหรับผู้สูงอายุในเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น การอยู่บ้านคนเดียวอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

            6. การทำปุ๋ยหมักใช้ จากวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อลดต้นทุนในการเกษตร รวมถึงการนำเศษอ้อยมาอัดขายให้กับโรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้า และลดการเผาไหม้ที่เป็นเหตุในเกิดมลพิษทางอากาศ

            7. การผลักดันให้มีโครงการเกษตรกรร่วมใจ พิทักษ์น้ำใส โดนจัดการประกวดสวนอินทรีย์ พิทักษ์น้ำ เป็นการประกวดเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ของเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกร เพื่อลดมลพิษทางน้ำ เช่น

                1) การประกวดนางงามเกษตรอินทรีย์หน้าใส
                2) การประกวดสูตรหมักยอดเยี่ยมเพื่อไม่ให้เกิดน้ำเน่าจากการทำเกษตร
                3) การประกวดอาหารอินทรีย์ประยุกต์ เพื่อสุขภาพ เพื่อลดและงดการใช้สารเคมีที่ทำลายน้ำ นอกจากนี้ภายในงานจะมีการแจกน้ำหมักชีวภาพฟรี แก้ปัญหาน้ำเน่าในนาอีกด้วย

         ภายหลังจากกิจกรรมวันนี้ จังหวัดนครสวรรค์ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ขับเคลื่อนไอเดียที่ได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของชาวนครสวรรค์อย่างแท้จริงต่อไป

         สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ได้ที่ Facebook Page : Opengovthailand

         สามารถรับชมภาพกิจกรรมได้ที่ >> https://drive.google.com/drive/folders/10409zodrS_WgFebzdI1P2xz04UcbppDm?usp=share_link