สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

         การประชุมแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 - 16.00 น. ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ค.ต.ป. กล่าวเปิดการประชุม และมอบนโยบายเกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จากนั้นเป็นการเสวนาประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยประธาน อ.ค.ต.ป. กลุ่มกระทรวง คณะที่ 1-7 และ อ.ค.ต.ป. กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) เป็นผู้ดำเนินรายการ มีประเด็นเสวนา ดังนี้

          1. การบริหารจัดการสินทรัพย์จากงบประมาณในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (ศาสตราจารย์กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ)
          2. การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ (นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา)
          3. การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตให้เข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ (นำเสนอโดยนางสาวจิราภรณ์ ตันติวงศ์ อนุกรรมการฯ))
          4. การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน (รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ)
          5. การสร้างระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์)
          6. การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กและเศรษฐกิจฐานราก (นายประสัณห์ เชื้อพานิช)
          7. การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร)
          8. การเสริมสร้างผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงในชีวิต (นายมนัส แจ่มเวหา)

         ทั้งนี้ ช่วงเช้าเวลา 9.00 - 12.00 น.ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และ ฝ่ายเลขานุการ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ เพื่อรับทราบถึงประเด็นปัญหา อุปสรรค และความคาดหวังของฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อปรับปรุงการบูรณาการการตรวจสอบ และพัฒนาการตรวจติดตามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

          1. ควรปรับระยะเวลาการเเจ้งกรอบแนวทางการตรวจสอบที่รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งควรมีประเด็นและแบบฟอร์มที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการรายงานที่สอดคล้องกันทั้งในเชิงเนื้อหาและระยะเวลา
          2. การหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และภาระงานส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) ระหว่างฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และ อ.ค.ต.ป. เเต่ละคณะ
          3. การบูรณาการระหว่าง อ.ค.ต.ป. แต่ละคณะ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ทั้งในเชิงวิธีการเเละเชิงสาระ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการตรวจติดตามแบบเป็นองค์รวม
          4. การสร้างความรับรู้ถึงความสำคัญและผลสัมฤทธิ์ในการตรวจสอบและข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. เพื่อให้ผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญ และนำผลการตรวจสอบไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
          5. การแชร์ข้อมูลกลางสำหรับ ค.ต.ป. เช่น ฐานข้อมูลกลาง ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และ อ.ค.ต.ป. แต่ละคณะ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบร่วมกันได้