การประชุมหารือ เรื่อง การถอดบทเรียนและการขยายผลการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ในช่วงเช้าได้มีการประชุมหารือเรื่อง การถอดบทเรียนและการขยายผลการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (นายไมตรี อินทุสุต) และ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการฯ (รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ และนายสุนิตย์ เชรษฐา) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร.

         โดยมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้แทนภาคประชาสังคม

         สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ได้ดังนี้

          1. การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ
              สำนักงาน ก.พ.ร. มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่มีการเปิดเผยข้อมูลโดยบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ แสดงบนฐานข้อมูลเดียวของทั้งจังหวัด และเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญที่ควรเพิ่มเติมและนำไปวิเคราะห์ เช่น ข้อมูลพื้นที่บริหารจัดการไฟภาคเกษตร ข้อมูลพื้นที่บริหารจัดการไฟในป่าภาครัฐ การจัดทำแนวกันไฟ ฯลฯ เพื่อเสริมการทำงานในพื้นที่ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้คนในพื้นที่ใช้แพลตฟอร์มให้มากขึ้น และอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ รวมทั้งสื่อสารข้อมูลไปยังหน่วยงานและบุคคลทุกระดับ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นสำคัญที่มีความท้าทายต่าง ๆ

          2. การมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา
              ที่ผ่านมามาตรการระดับจังหวัด ภายใต้ Single command ประสบความสำเร็จ ทำให้จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้สะสมลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับจังหวัดภาคเหนือตอนบนด้วยกัน แต่ควรมีนโยบายการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน ในเชิง Area Base รวมทั้ง การกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการทำไร่หมุนเวียน

          3. การสร้างภาคีเครือข่าย
              การยกระดับความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และต่างประประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือเรื่องหมอกควันข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ

          4. การสร้างแรงจูงใจ
              การสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น การรับซื้อใบไม้แห้ง การสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ผ่านกิจกรรม CSR การนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นเศรษฐกิจชุมชน โดยมีภาครัฐสนับสนุน และเสริมสร้างแรงจูงใจในด้านสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงสถานะทางสุขภาพของตัวเอง อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สำคัญ

          5. การสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากร
              การมีองค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในพื้นที่ เช่น ความรู้เรื่องการตอบแทนคืนให้แก่ระบบนิเวศ (PES) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม กับภาคเอกชน ในการป้องกันไฟป่า รวมทั้งจัดทำ Check list สิ่งที่ไม่ควรทำ หรือสิ่งที่ทำแล้วล้มเหลว เผยแพร่แก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไม่ทำเช่นเดิมอีก ทั้งนี้ ควรนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากขึ้น และการศึกษาเรื่องต้นเหตุขอปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทที่แตกต่างกัน
และนำงานวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเสริมการทำงานในพื้นที่

           6. การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การจัดทำแผนที่ระบายอากาศ (Ventilation Map) เพื่อมุ่งสู่ระบบการบริหารจัดการไฟ (Fire Management) อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งขยายการติดตั้ง Low cost sensors ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้แก่ประชาชนและนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

           7. การติดตามนโยบายของภาครัฐ
               การถ่ายทอดตัวชี้วัดจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับตำบลและอำเภอ โดยใช้พื้นที่และผลกระทบสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง เช่น ตัวชี้วัดเรื่องสุขภาพของประชาชน ตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การตั้งตัวชี้วัดอาจให้มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และในบริบทที่แตกต่างกัน

           8. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้ปลอดการเผา และเปลี่ยนความคิดเรื่องการใช้ไฟในการหาของป่า รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูลและการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคราชการ เอกชน และประชาน และการปรับทัศนคติต่อเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ว่าเป็นเครื่องมือเพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน

         ในช่วงบ่าย คณะผู้บริหารได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร) เพื่อสรุปผลการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปางในช่วงเช้า และหารือแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดลำปาง ให้ประสบความสำเร็จต่อไป