การประชุมหารือ เรื่อง การขยายผลแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่

แชร์หน้านี้


          เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ในช่วงเช้า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมหารือ เรื่อง การขยายผลแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนราวมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ (นายชัชวาลย์ ปัญญา) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (นายไมตรี อินทุสุต) อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ) ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหาร ภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการฯ (รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ และนายสุนิตย์ เชรษฐา) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร.

         โดยมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้แทนภาคประชาสังคม

         สรุปสาระการประชุมได้ดังนี้

         1. การคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการ : จังหวัดเชียงใหม่มีการเสนอพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการนำแนวคิด OG&MP ไปประยุกต์ใช้ จำนวนหลายพื้นที่ เช่น 1) อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 2) เขตพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอแม่ออนและอำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และแก้ปัญหาได้ยาก 3) พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 4) พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 5) พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว พื้นที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสุขภาพ ทั้งนี้ จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการ โดยพิจารณาข้อมูลในระดับพื้นที่ เช่น การมีข้อมูลสำคัญที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการทำงาน พื้นที่มีความต้องการการแก้ไขปัญหา มีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ พื้นที่มีศักยภาพในการต่อยอดด้วยกลไกการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

         2. การเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (OG & MP) : การเสริมสร้าง OG&MP ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ทั้ง 8 องค์ประกอบ เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติม การปรับเปลี่ยนตัวชี้วัด ในเชิงผลลัพธ์และความสำเร็จ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการนำองค์ความรู้งานวิจัย และนวัตกรรม มาสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ การสร้างแรงจูงใจ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

         3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัย เช่น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นต้น

         4. ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด : ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีปัญหา อุปสรรคต่ และข้อจำกัด ซึ่งต้องดำเนินการปลดล็อก และเข้าไปเสริมการทำงานในพื้นที่ เช่น ช่องว่างของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 งบประมาณการดำเนินการในพื้นที่ พื้นที่ความรับผิดชอบซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องคาร์บอนเครดิต กลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะมารับซื้อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ การสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น

         ภายหลังการประชุม คณะผู้บริหารได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร) เพื่อสรุปผลการขยายผลการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง และหารือแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จต่อไป

         ในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

          1) ศูนย์บัญชาการ (War Room) แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ณ ห้องปฏิบัติการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นศูนย์ข้อมูลกลางและศูนย์บัญชาการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการอำนวยการ สั่งการ ติดตาม ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ

          2) ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาดูงาน เทคนิคการจัดการขยะ และ เทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อลดการเผา โดยเป็นศูนย์บริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบครบวงจร ด้วยแนวคิด การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เหลือขยะที่นำไปกำจัดน้อยที่สุดจนกลายเป็นศูนย์ (Zero Waste) รวมทั้งการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานนำกลับมาใช้ต่อ