สำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาระบบฐานข้อมูลการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อถอดบทเรียนและพัฒนาต้นแบบ จังหวัดสระบุรี

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.45 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการศึกษาการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ณ ศาลากลางจังหวัดสระบุรี

         โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายถาวร พรหมมีชัย อ.ก.พ.รฯ และนายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และข้าราชการจากหน่วยงานในจังหวัดสระบุรีร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

         วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดได้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างและการบริหารงานในการใช้ข้อมูลและสารสนเทศ และสร้างความเข้มแข็งด้านระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศให้แก่จังหวัดเพื่อมุ่งสู่จังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) และมติ อ.ก.พ.ร.ฯ เห็นชอบคัดเลือกจังหวัดสระบุรี และจังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดนำร่องพัฒนาฐานข้อมูล

         สรุปประเด็นการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

         1. รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี รับทราบแนวทางการศึกษาดังกล่าว และนำเสนอโมเดลการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับการบริการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ “FOUR จริง = FLOW ประกอบด้วย ข้อมูลจริง (เป็นข้อมูลปัจจุบัน) ทำจริง (มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ) เห็นจริง (มีระบบสำหรับผู้บริหารตัดสินใจ) ตามจริง (มีการติดตามอัพเดตข้อมูล)” เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติในครั้งนี้

         2. รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดสระบุรี ว่า มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัล PMQA 4.0 ซึ่งในการศึกษาการพัฒนาฐานข้อมูลมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการนำข้อมูลมาแชร์ เชื่อม และใช้ประโยชน์ เป็นเครื่องมือสำคัญประกอบการตัดสินใจ โดยข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ ทันสมัย ผลผลัพธ์จากการศึกษา คือ ภาพใหญ่ของข้อมูลจังหวัดที่ต้องการพัฒนา (AS IS) เพื่อหากลไก วิธีการ และข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ มาจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนา (TO BE) ซึงกำหนดศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 และจะชี้แจงผลการศึกษาให้จังหวัดทราบต่อไป

         โดยสิ่งที่จังหวัดได้รับประโยชน์เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) หมวด 4 และการเตรียมรับการสำรวจความพร้อม ในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของจังหวัด ในปี 2566