การประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2/2566

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบวาระต่าง ๆ ดังนี้

         1. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation Platform) โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

             1.1 ควรมีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ด้าน คือ การให้ข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ (E-Information) การรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางดิจิทัลของภาครัฐ (E-Consultation) และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายผ่านช่องทางดิจิทัล (E-Decisionmaking) โดยพัฒนาเป็นระบบนิเวศที่รวบรวมช่องทางการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาไว้รวมกัน
             1.2 การพัฒนาแพลตฟอร์มโดยใช้ข้อดีและจุดเด่นของแพลตฟอร์มกลางด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation Platform) ของประเทศต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาได้ เช่น แฟลตฟอร์ม e-gov Portal ของประเทศญี่ปุ่น แพลตฟอร์ม REACH reaching everyone for citizenry @ home ของประเทศสิงคโปร์ แพลตฟอร์ม otakantaa – “Have your say” ของประเทศฟินแลนด์ แพลตฟอร์ม e-petition ของประเทศสหราชอาณาจักร และแพลตฟอร์ม e-People – “No Voice Left Unheard” ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

         ทั้งนี้ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่าการดำเนินการในระยะต่อไป ควรมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ในด้านการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายผ่านช่องทางดิจิทัล (E-Decisionmaking) โดยการพัฒนาฟังก์ชันการใช้งานด้านการนำข้อคิดเห็นความต้องการของประชาชนไปสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการออกแบบแพลตฟอร์ม

         2 . ข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางรวบรวมข้อเสนอจาก Hackathon เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำไปต่อยอด โดยที่ภาคเอกชนมีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบแพลตฟอร์มกลาง ภายใต้ชื่อ hack.go.th เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากการจัดกิจกรรม Hackathon ของภาคส่วนต่าง ๆ และจัดให้มีเจ้าภาพร่วมคือ ภาครัฐ กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและความน่าเชื่อถือ สามารถเปิดให้เข้าไปค้นหา Pain Point Catalogue เพื่อทำเป็นข้อมูลให้ผู้สนใจนำไปต่อยอดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถเสริมพลังการยกระดับประเทศต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (DGA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าวในการประชุมครั้งต่อไปด้วย

         3. รับทราบการดำเนินการ 5 เรื่อง ประกอบด้วย

             3.1 รายงาน Open Government in Thailand ประจำปี 2566 โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดส่งรายงาน OPEN GOVERNMENT IN THAILAND REPORT 2023 (รายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษ) ให้กับ OGP และ V-Dem ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และทำการเผยแพร่รายงาน Open Government in Thailand ประจำปี 2566 ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในรูปแบบ pdf และ e-Book ผ่านเว็บไซต์ www.opengovernment.go.th และ Facebook Page : Opengovthailand และ กพรOPDC เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างรอประกาศผลการประเมิน Value Check ที่เป็นเกณฑ์ประเมินสิทธิในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Open Government Partnership (OGP) ซึ่ง V-Dem จะมีการประกาศผลคะแนน Value Check ในเดือนมีนาคมของทุกปี

             3.2 รายงานความก้าวหน้า เรื่องการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG & MP) ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไปดังนี้

                   1) การขับเคลื่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล โดยการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่
                   2) การประชุมร่วมกับ ๘ มหาวิทยาลัย ในการนำข้อมูลด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
                   3) การลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยนำ Model และงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ในพื้นที่ เช่น การบริหารจัดการไฟโดยชุมชน การซื้อขายวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่า

             3.3 รายงานผลการจัดกิจกรรม พลเมืองเคลื่อนรัฐ OpenGov for Citizen ซึ่งในปี 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง

                   1) ครั้งที่ 1 ดำเนินการร่วมกับจังหวัดขอนแก่น โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วม จำนวน 60 คน และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการประชุมขับเคลื่อนข้อเสนอที่ได้จากการจัดกิจกรรมฯ ได้แผนการขับเคลื่อนข้อเสนอของประชาชน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น (ดำเนินการได้ทันที) และระยะกลาง (6 เดือน)
                   2) ครั้งที่ 2 ดำเนินการร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ จัดกิจกรรม ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 70 คน ประกอบด้วยประชาชนทุกอำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ได้ข้อเสนอ 7 เรื่อง และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ประชุมขับเคลื่อนข้อเสนอที่ได้จากการจัดกิจกรรมฯ ได้แผนการขับเคลื่อนข้อเสนอของประชาชน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (ดำเนินการได้ทันที) ระยะกลาง (6 เดือน) ระยะยาว (1 ปี) จากการหารือแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอของประชาชนที่ได้จากการจัดกิจกรรมฯ ทั้งจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครสวรรค์อยู่ระหว่างการนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนของแต่ละจังหวัดต่อไป และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้มีการติดตามผลการขับเคลื่อนทุก 3 เดือน และจะจัดทำสื่อและเผยแพร่ผลการขับเคลื่อนฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อมีผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป

             3.4 รายงานความก้าวหน้า เรื่องการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ระดับท้องถิ่น ณ เทศบาลตำบลหัวเวียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการดำเนินการในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. มีแผนการลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการใช้งานแพลตฟอร์ม “บอกเรา ถึงรัฐ” ให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ ณ เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ต่อไป

             3.5 รายงานผลการจัดกิจกรรมเสวนา KM Online หัวข้อ “ผนึกกำลัง หยุดยั้ง PM 2.5 จากระบบเปิดภาครัฐ สู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่” โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะมีการจัดกิจกรรมเสวนา KM Online อีกจำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งยังคงมีการเสริมการทำงานร่วมกับ จ.ลำปาง และ จ.สิงห์บุรี อย่างต่อเนื่อง ส่วน จ.เชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินการ “พื้นที่ปฏิบัติการ” (Sandbox/Government Lab) ดอยสุเทพ - ปุย ทั้งนี้ จะมีการจัดทำข้อมูล Open data เพิ่มเติม เพิ่มการพยากรณ์ ทำ Action Research/ถอดบทเรียน บูรณาการแผน ปรับปรุงระบบบริหารจัดการไฟ และปรับปรุงตัวชี้วัด/การประเมินตรวจสอบ ต่อไป