การขยายผลรางวัลเลิศรัฐ : ถอดบทเรียนเครือข่ายชุมชนต้นแบบด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติบ้านน้ำเค็ม

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผลงาน ชุมชนต้นแบบบ้านน้ำเค็ม : เครือข่ายเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ในระดับดีเด่น ประจำปี 2564 โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์) ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ (นางขนิษฐา งามวงศ์สถิต) กลุ่มเครือข่ายศูนย์เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชนบ้านน้ำเค็ม และกลุ่มมูลนิธิชุมชนไท ผศ.ดร.ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีปัจจัยความสำเร็จ สรุปได้ดังนี้

         1. จัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management: CBDRM)

             2) สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

             3) มีผู้ประสานงาน (Coordinator) ที่มีทักษะความเป็นผู้นำสูง สามารถประสานงานทั้งแนวดิ่งและแนวราบ

             4) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการบริหารจัดการ โดยเป็นผู้ดำเนินภารกิจและร่วมมือกับภาครัฐ

             5) ขับเคลื่อนผ่านกลไกการมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและส่งเสริมชุมชนพร้อมรับมือสาธารณภัยและภัยจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ ระดับตำบล เช่น ตำบลเหล อ.กะปง เป็นต้น

             6) การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติในชุมชน

         สิ่งสำคัญ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยใช้กลไกการบริหารราชการแบบเครือข่ายทั้งรูปแบบทางการและไม่ทางการ รวมถึงการเสริมสร้างทุนมนุษย์ในการสร้างความรู้ให้กับชุมชน เนื่องจากความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

         ทั้งนี้ ในการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในปี 2566 จะดำเนินการเพื่อให้ได้ต้นแบบจำนวน 6 แนวทาง และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้จัดประชุมเพื่อให้ได้แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานหรือพื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้เป็นโมเดลต้นแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้างต่อไป