ขยายผลรางวัลเลิศรัฐ : การถอดบทเรียนการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่ม อย่างยั่งยืน

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือแนวทางการขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมสหกรณ์ อาคาร 1 ชั้น 2 ห้อง 226 เพื่อถอดบทเรียนและหารือการขยายผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1) สร้างรายได้ ขายผลผลิตพิชิตหนี้สมาชิกสหกรณ์ (สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง) ระดับดีเด่น ประจำปี2564 และ 2) รัฐร่วมมือราษฎร์ร่วมใจ แก้ไขหนี้ด้วยวิถีพอเพียง (สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม) ระดับดี ประจำปี 2565

         โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ (นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์) กล่าวต้อนรับ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการสหกรณ์ (นางกัญจนา ภัทรวนาคุปต์) และผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (นางสาวพักตร์พิมล สุวรรณโณ) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมนำเสนอภาพรรวมการขยายผลรางวัล นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ จากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถนำไปขับเคลื่อนการขยายผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

         กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีเป้าหมายให้ภาคเกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและมีการฟื้นฟูและพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกและสหกรณ์ โดยกรมฯได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยนำผลงานที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ประสบความสำเร็จ ส่งเสมัครรางวัลเลิศรัฐ จนได้รับรางวัลฯ ในปี 2564 และนำมาเป็นแนวทางในการขยายผลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดความยั่งยืน

         1. การนำนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ ผลักดันให้สหกรณ์เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ โดยมีสหกรณ์เข้าร่วม 590 แห่ง ใน 74 จังหวัด มีสมาชิกจำนวน 250,000 ราย และปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยใช้การส่งเสริมสหกรณ์รายธุรกิจ โดยการสร้างการมีส่วนร่วม ใช้กลไกการจัดตั้งทีมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน (ทีมโค้ช) โดยนำสหกรณ์จังหวัด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเข้าช่วยเหลือในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมทั้งแต่ละสหกรณ์นั้น ๆ (สมาชิกสหกรณ์ คณะทำงาน ผู้จัดการ) กำหนดให้มีการตั้งทีมปฏิบัติการ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมฯ และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ในพื้นที่ ทำงานบูรณาการร่วมกัน โดยการจัดเวทีหารือร่วมกัน

         2. การบูรณาการความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ โดยร่วมกันสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรไทยที่สามารถสะท้อนสถานภาพทางการเงินและศักยภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรใช้กลไกความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สศป.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงาน ทั้ง 14 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และกรมการพัฒนาชุมชน

         นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีแนวทางการขยายผล แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัลฯ จะนำต้นแบบที่ได้รับรางวัลไปสู่การขับเคลื่อนขยายผลในสหกรณ์ในพื้นที่ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและเผยแพร่ผลงาน เป็นต้น 2) ระดับกรมฯ ได้จำแนกความเข้มแข็งของสหกรณ์ทั่วประเทศ ออกเป็น ระดับที่ 1 และ 2 โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ เป็นกลไกในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยกรมฯ ได้กำหนดตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องบูรณการความร่วมมือจาก สมาชิกสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์ คณะทำงาน ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีเป้าหมาย 1,100 แห่ง มูลค่าหนี้ลดลงร้อยละ 10 และโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสหกรณ์ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป้าหมาย 590 แห่ง

         โดยได้นำกรอบแนวทางจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างองค์รวม 5 ด้าน มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ 1) การสร้างข้อมูลและองค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ วิเคราะห์ศักยภาพในการชำระหนี้ 2) การแก้หนี้เก่าให้ลดและปลดหนี้ เช่น การจัดทำมาตรการการแก้ไขหนี้ การบริหารหนี้ที่มีคุณภาพตามศักยภาพของสมาชิก เป็นต้น 3) การปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึงและตอบโจทย์ เช่น ดูประวัติการชำระหนี้ เป็นต้น 4) การเพิ่มรายได้และเพิ่มศักยภาพของเกษตรกร เช่น จัดให้มีกองทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เป็นต้น 5) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความรู้ความเท่าทันทางการเงิน เช่น การให้ความรู้ทักษะทางบัญชีครัวเรือน การส่งเสริมการออม เป็นต้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

         ทั้งนี้ ในการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในปี 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการเพื่อให้ได้ต้นแบบจำนวน 6 แนวทาง และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้จัดประชุมเพื่อให้ได้แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานหรือพื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้เป็นโมเดลต้นแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้างต่อไป