สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมหารือแนวทางการขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ของกรมควบคุมมลพิษ

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือแนวทางการขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วมและผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ระดับดีเด่น ประจำปี 2564 ในผลงานเครือข่ายขยะพันธุ์ดี ต้นแบบอย่างความดี เพื่อชุมชนเจ้าพระยา ผ่านการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร องค์การบริหารส่วนตำบลโนนพลวง เครือข่ายชุมชนบ้านคุยมะม่วง โดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวเปิดการประชุมและกล่าววัตถุประสงค์ในการจัดทำแนวทางการขยายผลงาน หลังจากจึงเป็นการนำเสนอแนวทางการขยายผลงานเครือข่ายขยะพันธุ์ดี ต้นแบบอย่างความดี เพื่อชุมชนเจ้าพระยา โดยผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 (นายถาวร เพ็ชรบัว) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือในประเด็นต่างๆ จากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อให้มีแนวทางที่สามารถนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผลสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

         1. ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยเกิดจากการที่มีขยะจำนวนมาก ชุมชนบ้านคุยมะม่วงเคยประสบปัญหาขยะในชุมชนถึงประมาณ 221.74 ตันต่อปี ในช่วงปี 2559 นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และพิจิตร ยังพบปัญหาสถานที่กำจัดขยะส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง และขยะมูลฝอยชุมชนมีการคัดแยกน้อย ขาดความร่วมมือจากชุมชน ชุมชนได้หารือและวิเคราะห์ปัญหาถึงปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนมาจากที่ไหนบ้าง และจะใช้วิธีการใดในการลดปริมาณขยะลง

         2. กรมฯ ได้ผลักดันการดำเนินการ Roadmap เชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติขยะวาระแห่งชาติ 4 ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 (ระยะที่ 1) มาวางกรอบแนวคิด โดยใช้ 1) หลักการ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) เพื่อให้เกิดการใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ 2) กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายแบบศูนย์รวมและการแปรรูปผลิตพลังงานอย่างเหมาะสม 3) สร้างภาระความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

         3. การดำเนินการ ได้แก่ เตรียมความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำโมเดลบ้านคุยมะม่วง ต้นแบบชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เป็นต้นแบบในการขยายผลควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ต้นแบบตั้งแต่ ปี 2563 โดยการศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินโครงการต้นแบบ และร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพแวดล้อม อบรมการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน (CBM) ซึ่งได้คัดเลือกชุมชนที่ร่วมดำเนินโครงการด้านขยะมาก่อนแล้ว มีผลการดำเนินที่ดีและมีความพร้อมสูง และสามารถที่จะส่งเสริมไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบ (Role Model) มาพัฒนาองค์ความรู้ไปพร้อมกับชุมชนบ้านคุยมะม่วง โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และชุมชนต้นแบบ เป็นวิทยากรให้ความรู้ สถานที่ศึกษาดูงาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ ร่วมกับหน่วยงานของจังหวัด และสื่อออนไลน์ รวมถึงประสานหน่วยงานส่วนกลาง กรมควบคุมมลพิษ กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร ในการร่วมกันติดตามประเมินผล

         4. รูปแบบการบริหารราชการแบบเครือข่ายของโครงการ โดยมี สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผน (กองทุนสิ่งแวดล้อม) กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร เป็น Coordinator มีเครือข่ายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่รับผิดชอบ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ชมรมต้นกล้า ภาคเอกชน เป็น Partnership โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 ชุมชนคุยมะม่วง องค์การบริหารส่วนตำบลโนนพลวง เป็น Key Actor สำคัญ

         5. แนวทางการขยายผลในอนาคต กรมฯ จะดำเนินการนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังไม่ได้ร่วมดำเนินโครงการด้านการจัดการขยะมูลฝอยอบรมให้ความรู้และเผยแพร่รูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนต้นแบบบ้านคุยมะม่วง และเชิญชวนให้ไปศึกษาดูงานทั้งในชุมชนคุยมะม่วง และพื้นที่ขยายผล สนับสนุนให้ อปท. ต่าง ๆ สร้างศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นศูนย์รวม ของคนในชุมชนในการศึกษาร่วมกัน โดยมีกระบวนการติดตาม ประเมินผล เพื่อกระตุ้นให้ อปท. มีการขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

         สิ่งสำคัญ คือการใช้กลยุทธ์ในการบริหารราชการแบบเครือข่ายเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยการสร้างกลุ่มเยาวชนลูกมะม่วงพันธุ์ดีเปลี่ยนชุมชน เยาวชนในชุมชนเป็นกลไกสำคัญให้มีจิตสำนึกในในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปลูกฝังจากคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ จากที่เคยประสบปัญหาขยะมูลฝอย โดยเฉลี่ย 221.74 ตันต่อปี อัตราการเกิดขยะ 0.9 กิโลกรัม/คน/วัน ลดเหลือขยะเหลือเพียง 0.23 กิโลกรัม/คน/วัน หรือลดลงไปได้เกือบร้อยละ 74.44 ของปริมาณเดิม ช่วยลดงบประมาณของประเทศในการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน และสามารถขยายผลต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น บ้านป่าเหียง หมู่ที่ 1 ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

         ทั้งนี้ ในการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในปี 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการเพื่อให้ได้ต้นแบบจำนวน 6 ต้นแบบ และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้จัดประชุมเพื่อให้ได้แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานหรือพื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้เป็นโมเดลต้นแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้างต่อไป