การประชุมเรื่อง แนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY)

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเรื่อง แนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จาก 30 หน่วยงานเข้าร่วมการประชุม โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และคุณ Fabrizio Zarcone ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวเปิดการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) และนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลกดำเนินโครงการศึกษาโครงการดังกล่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

         1. แนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY)
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ธนาคารโลกได้ประกาศชื่อแนวทางการประเมินที่จะใช้อย่างเป็นทางการ จากเดิมที่จะใช้ชื่อว่า Business Enabling Environment (BEE) เป็น Business Ready (B-READY) พร้อมทั้งเผยแพร่ตัวชี้วัดที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมิน มีประเด็น ดังนี้

             - การประเมิน B-READY แบ่งตามวงจรธุรกิจออกเป็น 10 ด้าน แต่เพิ่มด้านแรงงานและด้านการแข่งขัน
ทางการตลาด และยกเลิกด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย มีตัวชี้วัด 798 ตัวชี้วัด การประเมินผ่านประเด็นสำคัญ (Critical Themes) 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Adoption) 2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และ 3) เพศหญิงและชาย (Gender)
             - ขอบเขตของการประเมิน B-READY จะอยู่ภายใต้ 3 เสาหลัก (Pillars) ได้แก่ 1) กรอบการกำกับดูแล (Regulatory framework) 2) การบริการสาธารณะ (Public service) และ 3) ประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยในแต่ละเสาหลักจะต้องคำนึงทั้งความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจและประโยชน์ต่อสังคม (Firm flexibility and social benefits) โดยธนาคารโลกจะปรับค่าคะแนน (rescale) ให้เป็น 0 - 100 คะแนน และทำการถ่วงน้ำหนักเสาหลักละ 0.33 ก่อนที่จะประเมินคะแนนรวม
             - การเก็บข้อมูลและการเผยแพร่รายงาน จะแบ่งการดำเนินการรอบแรกออกเป็น 3 กลุ่ม การเก็บข้อมูลมี 2 วิธี คือ 1) เก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expert Consultation) ซึ่งจะเก็บข้อมูลทุกปี โดยเก็บข้อมูลทั้งบริบทในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ของกฎระเบียบและงานบริการภาครัฐ จากภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญของภาคเอกชน และ 2) แบบสำรวจระดับองค์กร (Enterprise Survey) จะเก็บข้อมูลทุก 3 ปี โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างบริษัทเอกชน โดยกลุ่มที่ 1 เก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญช่วงเดือนเมษายน - ตุลาคม 2566 (60 เขตเศรษฐกิจ) แบบสำรวจระดับองค์กรช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 (60 เขตเศรษฐกิจ) และประกาศผลเดือนเมษายน 2567 กลุ่มที่ 2 เก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญช่วงเดือนเมษายน - ตุลาคม 2567 (120 เขตเศรษฐกิจ) แบบสำรวจระดับองค์กรช่วงเดือนตุลาคม 2566 - ตุลาคม 2567 (60 เขตเศรษฐกิจ) และประกาศผลเดือนเมษายน 2568 และกลุ่มที่ 3 เก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญช่วงเดือนเมษายน - ตุลาคม 2568 (180 เขตเศรษฐกิจ) แบบสำรวจระดับองค์กรช่วงเดือนตุลาคม 2567 - ตุลาคม 2568 (60 เขตเศรษฐกิจ) และประกาศผลเดือนเมษายน 2569 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในการประเมินกลุ่มที่ 3

         2. ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3
โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และธนาคารโลกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 2) ด้านการชำระภาษี และ 3) ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตัวอย่างข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากธนาคารโลก มีดังนี้

             2.1 ด้านการค้าระหว่างประเทศ

                   * ระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทยมีจุดเด่นหลายประการ แต่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในเรื่องข้อกำหนดให้มีการยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว (single submission)
                   * การแก้ไขช่องว่างทางกฎหมาย เช่น การมีกฎหมาย Thailand National Single Window (NSW) ที่ครอบคลุมการกำกับดูแลและการดำเนินงานจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
                   * การบริหารความเสี่ยงและความร่วมมือในการบริหารจัดการบริเวณพื้นที่ชายแดนเป็นประเด็น ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของมาตรการความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA)

             2.2 ด้านการชำระภาษี

                   * การควบคุมคุณภาพการตรวจสอบภาษีโดยการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้การตรวจสอบภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
                   * กรมสรรพากรมีการกำหนดเกณฑ์และคู่มือการตรวจสอบภาษี แต่ยังขาดการปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักการบริหารความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Risk Management: CRM) สมัยใหม่ ซึ่งเป็นมาตรฐาสากลที่จะช่วยให้การตรวจสอบภาษีมีความโปร่งใส ถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น
                   * กรมสรรพากรควรมีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อพัฒนาระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Invoicing) ระบบติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมธุรกรรมแบบทันที (real-time) ตามข้อมูลเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

             2.3 ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

                   * ผู้ยื่นมีระยะเวลาในการเตรียมเอกสารก่อนการยื่นซองข้อเสนอน้อยเกินไป ทำให้เกิดการแข่งขันที่
ไม่เป็นธรรม จึงควรเพิ่มระยะเวลาให้เหมาะสมกว่านี้
                   * กรมบัญชีกลางควรพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เช่น การเพิ่มฟังก์ชันการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ค้าแทนการใช้อีเมล การนำ e-Signature มาใช้
                   * กรมบัญชีกลางควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และการส่งเสริมเพศหญิงให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ผู้ประกอบการหญิง

         3. การเสวนาหัวข้อ “การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจภายใต้แนวทางการประเมิน B-READY”
เป็นการเสวนาร่วมกันกับหน่วยงานที่ทางธนาคารได้เข้าไปร่วมทำงานด้วยจากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้แทนกรมสรรพากรและกรมศุลกากรร่วมเสวนาในครั้งนี้ โดยผู้แทนทั้งสองกรมได้กล่าวขอบคุณทางธนาคารโลกที่ได้ให้ข้อค้นพบและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนางานบริการ และปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการประเมิน B-READY ต่อไป

         สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนตามแนวทางการประเมิน B-READY ให้พร้อมก่อนที่ธนาคารโลกจะเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย