เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ประชุมหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ สุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสภาลมหายใจภาคเหนือ
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ได้ดังนี้
1. พื้นที่ปฏิบัติการ : คัดเลือกพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อมอีก 2 พื้นที่
2. การขับเคลื่อนภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (OG&MP) : ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. สกสว. GISTDA และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล (Open data) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อสร้างให้เกิดศูนย์ข้อมูลเปิด (Open Data Center) ในเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในการขับคเลื่อนองค์ประกอบของระบบนิเวศ OG&MP อื่น ๆ ได้แก่ การมีนโยบายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา การสร้างแรงจูงใจ การสนับสนุนองค์ความรู้ การนำนวัตกรรมและเทคโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา จะดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สสส. สปสช. สภาลมหายใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนา OG&MP อย่างครบทุกมิติ
3. ฐานข้อมูลที่ต้องการให้เกิดการเปิดเผย ประกอบด้วย แหล่งกำเนิดของมลพิษ ค่าฝุ่น PM 2.5 จุดความร้อน (Hotspot) ที่มีการจำแนกจุดความร้อนที่มีการบริหารจัดการ และไม่มีการบริหารจัดการ ข้อมูลด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การกระจายของหน้ากากอนามัย ข้อมูลห้องปลอดฝุ่น ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการไฟและเชื้อเพลิง เช่น ข้อมูลแนวกันไฟ ข้อมูลแผนที่แสดงการระบายอากาศ ฯลฯ ข้อมูลหมู่บ้านที่ทำไร่หมุนเวียน ข้อมูลป่าชุมชน ข้อมูลแหล่งรับซื้อเชื้อเพลิง ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลการจัดสรรงบประมาณและการบริหารงบประมาณในเรื่อง PM 2.5 ข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย เป็นต้น
4. ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากจัดทำศูนย์ข้อมูล (Open Data Center) ในเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เช่น
- หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อกำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ทำให้เกิดการทำงานเชิงรุก และมีความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา
- เกิดความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และมหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามาช่วยเสริมกำลังในส่วนที่ภาครัฐมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ข้อมูลในพื้นที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ ฯลฯ
- ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับปัญหาเรื่อง PM 2.5 ได้มากขึ้น จากการเห็นข้อมูลที่ครบถ้วน
- เกิดการบูรณาการแผน/งบประมาณ/ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนอื่น
- เกิดการบูรณาการฐานข้อมูล งานวิจัย นวัตกรรม จากหน่วยงานวิชาการต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย สกสว. วช. สสส. ซึ่งจะก่อให้เกิดการบูรณาการและเสริมการทำงานในพื้นที่
การดำเนินการในระยะต่อไป :
- การประชุมหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่าย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในวันที่ 17 ก.พ. 2566
- การขับเคลื่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล โดยการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่
- การประชุมร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย ในการนำข้อมูลด้านงานวิจัยและนวัตกรรม มาใช้แก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
- การลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยนำ Model และงานวิจัยต่างๆ ไปใช้ในพื้นที่ เช่น การบริหารจัดการไฟโดยชุมชน การซื้อขายวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น